เทคโนโลยีด้านโลเคชันเบื้องหลังความเฟื่องฟูของการก่อสร้าง

 

บริษัท HDR กับการใช้เทคโนโลยี GIS เพื่อส่งมอบงานอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นธรรม

ณ ขณะนี้ ทั่วทั้งสหรัฐอเมริกาเต็มไปด้วยเสียงรถบรรทุกซีเมนต์ และเครน เพราะการก่อสร้างกำลังเฟื่องฟูอย่างมาก อุตสาหกรรม AEC (ประกอบด้วยสถาปัตยกรรม วิศวกรรม และการก่อสร้าง) ต่างได้รับผลประโยชน์จากการลงทุนด้านสาธารณูปโภคของภาครัฐหลายพันล้านดอลล่าร์สหรัฐ จากการขยายโครงสร้างด้านพลังงานหมุนเวียน รวมทั้งการฟื้นฟูอุตสาหกรรมยานยนต์และการขนส่ง ประกอบกับรายงานจากสำนักงานสำมะโนประชากรยังระบุว่าเงินลงทุนในอุตสาหกรรมการก่อสร้างของปีที่แล้วของสหรัฐอเมริกามีจำนวนสูงสุดเป็นประวัติการณ์

บริษัท HDR ซึ่งเป็นบริษัทระดับแนวหน้าในอุตสาหกรรมที่มีทั้งความเชี่ยวชาญและทรัพยากรบุคคลมากถึง 11,000 คนได้ลุกขึ้นทำการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ด้วยการนำความรู้ด้านเทคโนโลยีมาใช้ในโครงการที่มีความซับซ้อนด้านโครงสร้างพื้นฐานเพื่อส่งมอบงานอย่างประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ทีมที่มีบทบาทอย่างยิ่งในการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้มีชื่อว่า Geospatial and Information Management หรือ GeoIM ซึ่งประกอบไปด้วยบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญแตกต่างกันมากถึง 130 คน พวกเขามีหน้าที่พัฒนาแผนที่และ Dashboard เพื่อช่วยวางแผนโครงการต่าง ๆ ให้กับลูกค้ากลุ่มอุตสาหกรรม AEC ในขณะเดียวกันก็ทำหน้าที่มอนิเตอร์ผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมภายในสหรัฐอเมริกาที่เกิดจากการโครงการเหล่านั้น

 

จากเครื่องมือธรรมดาสู่เทคโนโลยีสำคัญขององค์กร

บริดเจต บราวน์ ผู้อำนวยการแผนก GeoIM ของบริษัท HDR ได้นำ Location intelligence ที่ใช้เทคโนโลยี GIS มาใช้ในทุกกระบวนการของโครงการ ตั้งแต่การออกแบบ การขออนุญาตด้านสิ่งแวดล้อม แผนการปฏิบัติตามกฎหมาย การก่อสร้าง ไปจนกระทั่งการวางแผนในการสื่อสาร

ก่อนหน้านี้เทคโนโลยี GIS ไม่ได้มีบทบาทสำคัญในบริษัทมากนัก แต่ปัจจุบันได้กลายเป็นระบบหลักของบริษัทไปเสียแล้ว โดยใช้ในการจัดการข้อมูลของโครงการสำคัญต่าง ๆ เช่น โครงการรถไฟใต้ดินในเมืองโตรอนโตชื่อ Ontario Line ซึ่งเป็นเส้นทางรถไฟความเร็วสูงมี 15 สถานีภายในระยะทางเกือบ 10 ไมล์ ซึ่งเทคโนโลยี GIS ถูกนำมาใช้เป็นศูนย์กลางในการแชร์ข้อมูลและภาพดิจิทัล 3 มิติของเส้นทางรถไฟใต้ดินแบบใหม่ ระหว่างผู้เชี่ยวชาญในแขนงต่าง ๆ นับพันกว่าคนในหลากหลายทีม

การใช้ GIS สามารถตอบโจทย์ได้เป็นอย่างดี เพราะสิ่งของทางกายภาพทุกสิ่ง ตั้งแต่เสาสะพานไปจนกระทั่งสายส่งไฟฟ้าต่างมีสิ่งที่เหมือนกัน คือ ตำแหน่งที่ตั้ง เมื่อใช้ซอฟต์แวร์ GIS ที่สามารถเปลี่ยนข้อมูลด้านโลเคชันให้กลายเป็นข้อมูลสำคัญที่ช่วยให้คนทำงานทุกคนเข้าใจในชุดข้อมูลเดียวกัน และ GIS ยังช่วยให้ผู้บริหารสามารถติดตามการทำงานของโครงการได้ในแบบ Real-Time ในทุกแผนก ถึงแม้ในแต่ละแผนกจะมีเนื้องานที่แตกต่างกัน

วาเนสสา เบาแมน จากบริษัท HDR กล่าวว่า “เทคโนโลยี GIS ช่วยให้คุณสร้างโครงการให้มีชีวิตได้บนจอคอมพิวเตอร์ คุณสามารถประชุมผ่านทางออนไลน์และแชร์แผนที่กับคนอื่น ๆ โดยสามารถเปิดเลเยอร์ของข้อมูลต่าง ๆ ทันทีระหว่างที่พูดคุยงานกันอยู่ และคุณสามารถโชว์ข้อมูลและเห็นความสัมพันธ์เชิงพื้นที่ของข้อมูลเหล่านั้นกับผู้ร่วมประชุมได้ทันที มันเป็นเครื่องมือที่มีประโยชน์จริงๆ”

 

การเก็บข้อมูล: 24 ชั่วโมง vs. 3 สัปดาห์

หนึ่งในตัวอย่างโครงการของบริษัทฯ คือ โครงการสายไฟฟ้ายาว 500 ไมล์จากรัฐไวโอมิงถึงรัฐยูทาห์ ภายในโครงการนี้มีผู้ร่วมงานมากกว่า 500 คน และพวกเขาใช้แผนที่ที่สร้างโดยทีม GeoIM ซึ่งเป็นแผนที่ที่ผสมผสานชุดข้อมูลสำคัญต่าง ๆ ตั้งแต่ขอบเขตของโครงการไปจนกระทั่งพื้นที่อ่อนไหวทางสิ่งแวดล้อมที่ผู้รับเหมาควรหลีกเลี่ยง ทั้งทีมก่อสร้างและบำรุงรักษาก็ยังสามารถฟีดข้อมูลเข้าแผนที่ได้ในแบบ Real-Time ทำให้หัวหน้าโครงการสามารถตัดสินใจต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็ว เห็นได้ชัดว่าการนำเทคโนโลยีด้านโลเคชันมาใช้ช่วยร่นระยะเวลาการเก็บข้อมูล การวิเคราะห์ และการสื่อสารที่เคยยาวนานถึงสามสัปดาห์ให้เหลือเพียง 24 ชั่วโมงเท่านั้น บราวน์ หัวหน้าทีม GeoIM ทำงานในบริษัท HDR มากว่า 15 ปี และเริ่มต้นจากการเป็นผู้เชี่ยวชาญด้าน GIS มีความเห็นว่า ถ้าไม่ได้เครื่องมือนี้ ก็คงไม่สามารถทำงานเสร็จได้เร็วตามที่ลูกค้าต้องการ เพราะข้อมูลที่แม่นยำและเข้าถึงได้ง่ายทำให้โครงการเสร็จได้ตามกำหนด ยิ่งไปกว่านั้น การส่งมอบงานในรูปแบบดิจิทัลยังสร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้าเป็นอย่างมาก เพราะพวกเขาสามารถผสมผสานระบบ GIS เข้ากับโปรแกรมซอฟต์แวร์อื่น ๆ ได้ เช่น BIM และ CAD ในการสร้างโมเดล 3D และ Digital twin

 

การสร้าง Equity Atlas

เมื่อการก่อสร้างเติบโตมากขึ้น นักวางแผนและทีมก่อสร้างต่างยิ่งต้องระมัดระวังไม่ให้เกิดความผิดพลาดซ้ำรอยเดิม บริษัทอย่าง HDR จึงใช้เครื่องมือการวิเคราะห์ข้อมูลที่มีประสิทธิภาพต่าง ๆ รวมทั้งเครื่องมือ GIS เพื่อกำหนดแนวทางปฏิบัติให้มากกว่าที่กฎหมายกำหนดทั้งในด้านสิ่งแวดล้อมและความเป็นธรรม

ทีมงานที่รับผิดชอบด้านดังกล่าวคือกลุ่มที่มีชื่อว่า Community Analytics ซึ่งเกิดจากการร่วมมือกันระหว่างทีม GeoIM และทีมการสื่อสารด้านกลยุทธ์ พวกเขาใช้ความสามารถด้าน Location intelligence เพื่อแสดงให้หัวหน้าโครงการและลูกค้าเข้าใจความต้องการของชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการ พร้อมทั้งสื่อสารข้อมูลเหล่านั้นให้กับผู้ที่เกี่ยวข้องในโครงการได้รับทราบ กล่าวได้ว่า บราวน์ มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการเติบโตของ Community Analytics โดยเธอทำหน้าที่คอยหาเครื่องมือที่จำเป็นให้กับสมาชิก พร้อมสนับสนุนการอบรมต่าง ๆ ทั้งยังหาโอกาสให้พวกเขาได้โชว์ผลงานต่อเพื่อนร่วมงานและที่ประชุม

ในแต่ละโครงการ ทีม Community Analytics จะทำการศึกษาผู้คนที่อาศัยในชุมชนนั้น โดยนำข้อมูลด้านประชากร สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และจิตวิทยา มารวบรวมเข้าด้วยกันเป็นชุดข้อมูลที่เรียกว่า Equity Atlas และด้วยการใช้ GIS ทำให้พวกเขาสามารถเพิ่มข้อมูลที่เกี่ยวข้องภายในพื้นที่ เช่น ข้อมูลการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ต การเข้าถึงระบบขนส่งสาธารณะ การวิเคราะห์ที่ราบน้ำท่วมถึง หรืออคติทางเชื้อชาติ เช่น การปฏิเสธการให้บริการในชุมชนบางพื้นที่ เป็นต้น

จากบริบทด้านภูมิศาสตร์ดังกล่าว ทำให้ผู้บริหารเข้าใจผลกระทบที่เกิดจากโครงการ พร้อมกับหาหนทางสร้างความเชื่อมั่นให้ชุมชนได้ดียิ่งขึ้น และเมื่อโครงการถูกพัฒนามากขึ้น ทีมงานย่อมได้ข้อมูลเชิงลึกที่มาจากการวิเคราะห์เชิงพื้นที่มากขึ้นเพื่อใช้ในการวางกลยุทธ์การสื่อสาร และข้อมูลเชิงลึกนี้ยังช่วยเปลี่ยนมุมมองในการก่อสร้างแก่ทีมวิศวกรและทีมก่อสร้างให้เข้าใจชุมชนได้มากขึ้นด้วย

ตั้งแต่ทีม Community Analytics ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2018 พวกเขาได้รับผิดชอบงานมาแล้วมากถึง 191 โครงการ รวมถึงโครงการวางแผนระบบจัดการน้ำ และโครงการสร้างเครื่องมือลดคาร์บอน เป็นต้น

บราวน์ กล่าวว่า “ลูกค้าของเราต้องการข้อมูลเชิงพื้นที่มากขึ้น และมันได้กลายเป็นส่วนสำคัญของโปรแกรมไปแล้ว เพราะข้อมูลเชิงพื้นที่มีส่วนช่วยในการตัดสินใจต่าง ๆ ในโครงการได้เป็นอย่างดี”

แฟรงค์ พีซานี จากบริษัท HDR กล่าวเสริมว่า “แต่ก่อนเราดูข้อมูลจากรายงานหรือ PDF เท่านั้น แต่ปัจจุบันพวกเราจะเปิดแผนที่ในทุกการประชุมกับลูกค้าและทีมงาน เพราะมันมีส่วนช่วยในการตัดสินใจ ทั้งยังช่วยให้ทุกคนได้เห็นความคืบหน้าของโครงการอีกด้วย”

 

ผู้นำที่เห็นความสำคัญของเทคโนโลยีด้านโลเคชัน

บราวน์ ไม่ได้สนใจในเทคโนโลยีด้านโลเคชันตั้งแต่เริ่มต้น แต่เมื่อเธอร่วมทำงานในกรมป่าไม้ และได้รับมอบหมายให้ทำการศึกษาผลกระทบต่อแพะที่เกิดจากการใช้เฮลิคอปเตอร์ในเมืองเกิร์ดวูด รัฐอะแลสกา ทำให้เธอได้ค้นพบศักยภาพของการวิเคราะห์เชิงพื้นที่เป็นครั้งแรก

“ฉันชอบมันมาก มันเหมือนฉันได้จำลองสิ่งที่ตาเห็นให้กลายเป็นภาพดิจิทัล” บราวน์กล่าวเมื่อได้ลองใช้แอปพลิเคชันที่ใช้เทคโนโลยี GIS ในการติดตามการเคลื่อนที่ของเครื่องบินและสัตว์ ซึ่งสามารถผสานข้อมูลเรียลไทม์เข้ากับข้อมูลสเปรดชีตได้

ปัจจุบันบราวน์ได้ผลักดันให้ทีมงานทำงานร่วมกับแผนกอื่น ๆ และคอยสนับสนุนให้หัวหน้าโครงการได้ใช้เครื่องมือที่พวกเขาต้องการ เธอยังคอยให้ความช่วยเหลือผู้เชี่ยวชาญแขนงอื่น ๆ ของบริษัทกว่า 2,000 คน ที่จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีด้านโลเคชันในการทำงานในแต่ละวัน เช่น นักชีววิทยา นักวางแผนการเดินทาง และวิศวกรด้านการสร้างสะพาน เป็นต้น นอกจากนั้น บราวน์ ยังสนับสนุนการสร้างเครื่องมือติดตามที่ใช้เทคโนโลยี GIS เพื่อแสดงผลการทำงานของทีม GeoIM ว่าส่งผลดีอย่างไรต่อบริษัทฯ และเธอยังได้ให้ความช่วยเหลือแก่หัวหน้าอาวุโสที่สนใจใช้เทคโนโลยีด้านโลเคชันในการศึกษาตลาดและวิเคราะห์หาโอกาสใหม่ ๆ อีกด้วย

เห็นได้ว่าในยุคที่การก่อสร้างเฟื่องฟูเช่นนี้ เทคโนโลยีดิจิทัลอย่าง GIS สามารถสร้างประโยชน์ให้กับองค์กรในอุตสาหกรรม AEC ได้เป็นอย่างดี และทีม GeoIM ของบริษัท HDR ก็มีบทบาทอย่างยิ่งในการให้คำแนะนำแก่ผู้บริหารประกอบการตัดสินใจ ขณะเดียวกันก็ใช้เทคโนโลยีดังกล่าวเพื่อดูแลสังคมผ่านการสังเกตผลกระทบจากโครงการที่ส่งผลต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อมไปพร้อม ๆ กัน

 

 


ค้นหาศักยภาพของเทคโนโลยี GIS กับการประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมอื่นๆ เพิ่มเติม

 

อ่านเพิ่มเติม