เทคโนโลยี GIS กุญแจสำคัญในการเข้าใจ แก้ไข และป้องกันปัญหาฝุ่น PM2.5

 

เทคโนโลยี GIS กุญแจสำคัญในการเข้าใจ แก้ไข และป้องกันปัญหาฝุ่น PM2.5

ถ้าหากพูดถึงวิกฤตทางด้านมลพิษของประเทศไทย ทุกคนน่าจะนึกถึงปัญหาฝุ่น PM2.5 เพราะปัญหาใหญ่ที่กระทบทั้งสุขภาพและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะในเขตเมืองใหญ่และพื้นที่ที่มีการเผาไหม้ชีวมวลสูงอย่างเช่นภาคเหนือและภาคกลางของประเทศ ปัจจัยที่ก่อให้เกิดฝุ่น PM2.5 ในประเทศไทยมีหลายประการ ตั้งแต่การเผาไร่อ้อยและพืชผลทางการเกษตร การจราจรที่หนาแน่นในเขตเมือง ไปจนถึงมลพิษจากภาคอุตสาหกรรม ด้วยปัญหาดังกล่าว รัฐบาลไทยได้กำหนดนโยบายและแผนยุทธศาสตร์ เพื่อแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 นี้

และเทคโนโลยี GIS เข้ามีบทบบาทอย่างมากในสถานการณ์ปัญหาฝุ่น PM2.5 ที่ทำให้เรา “รู้ที่มา รู้ทัน และรู้ก่อน” เพราะว่า GIS ไม่ได้มีดีแค่ทำแผนที่! แต่ยังเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยในการตรวจสอบสาเหตุ การติดตามการแพร่กระจาย และคาดการณ์แนวโน้มของฝุ่นได้อย่างแม่นยำ

 

การตรวจสอบสาเหตุฝุ่น PM2.5

GIS ช่วยให้เรามองเห็นต้นตอของปัญหาฝุ่นได้ชัดเจนขึ้น และทำให้เราแก้ไขปัญหาได้อย่างตรงจุด! ไม่ว่าจะเป็น

  • ตรวจจับแหล่งกำเนิดฝุ่น เช่น จุดที่มีการเผาไหม้ป่าและพืชไร่ จากการตรวจจับจุดความร้อนด้วยข้อมูลจากภาพถ่ายดาวเทียม (Satellite (VIIRS, MODIS) Thermal Hotspots and Fire Activity)
  • ระบุจุดกำเนิดของฝุ่นจากไฟไหม้ป่าและเมืองที่มีความร้อนสูง จากการผสมสีภาพด้วยภาพถ่ายดาวเทียม Landsat 8 และ Sentinel-2 แต่ละช่วงเวลา
  • ระบุพื้นที่ที่มีค่าฝุ่นสูงผิดปกติ ซึ่งอาจมาจากการจราจร โรงงาน หรือการเผาไหม้ ด้วยการทำ Hotspot Analysis (การวิเคราะห์จุดความร้อน)
  • ตรวจสอบการเพิ่มขึ้น/ลดลงของฝุ่นตามฤดูกาลหรือเหตุการณ์สำคัญ เช่น ไฟป่า หรือมลพิษจากเมืองใหญ่/พื้นที่อุตสาหกรรม จากการใช้ภาพหลายช่วงเวลา (Time Series Analysis)

ด้วยข้อมูลและการวิเคราะห์เชิงพื้นที่เหล่านี้ จะช่วยให้หน่วยงานสามารถกำหนดมาตรการได้อย่างมีประสิทธิภาพ อย่างเช่น การควบคุมการเผาในพื้นที่เสี่ยง ปรับนโยบายการจราจรเพื่อลดมลพิษ และวางแผนลดผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน

 

การติดตามสถานการณ์ฝุ่นแบบเรียลไทม์

GIS ช่วยรวบรวมข้อมูลจากเซ็นเซอร์ตรวจวัดคุณภาพอากาศ สภาพอากาศ และข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียม เพื่อติดตามค่าฝุ่นแบบเรียลไทม์!

ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลที่ช่วยในการติดตามสถานการณ์ฝุ่น อย่าง ข้อมูลคุณภาพอากาศจาก OpenAQ และข้อมูลสภาพอากาศและลมจาก NOAA หรือจะเป็นแอปพลิเคชัน “เตะฝุ่น” ที่ใช้เทคโนโลยี GIS ในการรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลคุณภาพอากาศทั่วประเทศ พร้อมติดตามสถานะการระบายฝุ่น และปัจจัยที่เกี่ยวข้อง เช่น จุดความร้อน (Hotspot) และดัชนีการระบายอากาศแบบเรียลไทม์ รวมถึงคาดการณ์ค่าการระบายอากาศและจุดเผาไหม้ล่วงหน้าได้ถึง 7 วัน นอกจากที่ประชาชนสามารถติดตามสถานการณ์ฝุ่นแบบเรียลไทม์ เพื่อวางแผนการใช้ชีวิตและปกป้องสุขภาพของตัวเองได้ง่ายขึ้นแล้ว ยังช่วยยกระดับการติดตามและจัดการปัญหาฝุ่นของหน่วยงานต่าง ๆ ด้วยข้อมูลดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพ โปร่งใส และตอบโจทย์การบริหารจัดการอย่างยั่งยืน

 

การคาดการณ์แนวโน้มฝุ่นล่วงหน้า

GIS ช่วยคาดการณ์การแพร่กระจายของฝุ่น PM2.5 ในแต่ละพื้นที่ล่วงหน้าได้ ด้วยการวิเคราะห์จากชุดข้อมูลในแต่ละช่วงเวลา (Time Series Data) ทั้งข้อมูลฝุ่นและข้อมูลสภาพอากาศ เช่น ทิศทางลม ความกดอากาศ ความชื้นฯ และข้อมูลอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

สำหรับการคาดการณ์การแพร่กระจายของฝุ่น PM2.5 ทางด้าน GIS สามารถทำได้หลายวิธีการ เช่น

  • การคาดการณ์จากข้อมูลที่มีลำดับเวลา (Time-Dependent Data) เพื่อดูว่าในช่วงเวลาเดียวกันของแต่ละปี ปัญหาฝุ่นรุนแรงขึ้นหรือลดลง
  • การคาดการณ์โดยการเรียนรู้จากข้อมูลปัจจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น สภาพอากาศและกิจกรรมที่ส่งผลต่อการเพิ่มหรือลดฝุ่น ฯ ด้วยเทคนิคทางด้าน Machine Learning นอกจากจะช่วยในการพยากรณ์ ยังช่วยในการหาความสัมพันธ์ของปริมาณฝุ่นกับปัจจัยต่างๆ อย่างเช่น ลมแรงหรือฝนตกช่วยลดฝุ่นหรือเพิ่มฝุ่น เป็นต้น

ซึ่งการคาดการณ์การแพร่กระจายของฝุ่น PM2.5 จะช่วยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถเตรียมมาตรการรับมือ หรือแจ้งเตือนประชาชนได้อย่างทันท่วงที