AEC พร้อมหรือยังที่จะก้าวสู่การก่อสร้างแห่งอนาคต

อุตสาหกรรมก่อสร้างเป็นอุตสาหกรรมที่มีขนาดใหญ่ถึง 10 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ และเป็นส่วนสำคัญของระบบเศรษฐกิจโลก โดยมีส่วนใน GDP รวมถึง 13 เปอร์เซ็นต์ของทั้งโลก ณ วันนี้กำลังมีการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในวิธีการส่งมอบโครงการ และวิธีการร่วมทำงานกับลูกค้า

ตามรายงานจาก McKinsey ระบุว่าผู้นำในอุตสาหกรรมก่อสร้างกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ คาดว่าอุตสาหกรรมจะเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในอีก 15 ถึง 20 ปีข้างหน้า เนื่องจากเทคโนโลยีและเทคนิคใหม่ ๆ เช่น Machine learning และการก่อสร้างแบบ Modular กำลังเติบโต ในขณะที่ 60 เปอร์เซ็นต์คาดว่าการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญจะเกิดขึ้นในอีก 5 ปีข้างหน้านี้

องค์กรด้านสถาปัตยกรรม วิศวกรรม และการก่อสร้าง (AEC) กำลังเผชิญความท้าทายใหม่ ๆ ที่มาจากการเปลี่ยนแปลงและการลงทุนอย่างมหาศาลด้านอุตสาหกรรมการก่อสร้างที่ผ่านมา นั่นคือ การเติบโตของเทคโนโลยีดิจิทัล และความต้องการด้านความยั่งยืน ปัจจุบันการบริหารจัดการข้อมูลกลายเป็นเรื่องสำคัญพอ ๆ กับการออกแบบ รวมทั้งกฎระเบียบใหม่ที่เกี่ยวกับการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพก็มีผลทำให้การดีไซน์และการก่อสร้างแบบเดิม ๆ ต้องปรับตัว ด้วยเหตุดังกล่าวองค์กร AEC ระดับแถวหน้าจึงต่างเลือกใช้เทคโนโลยี GIS ที่มีความเชี่ยวชาญด้านข้อมูลเชิงพื้นที่มาปรับใช้ในองค์กรเพื่อมุ่งสู่โลกยุคใหม่ที่คล่องตัวและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

 

แรงผลักดันสู่โลกดิจิทัล

แนวโน้มต่าง ๆ มากมาย เช่น การเปลี่ยนเจเนอเรชันของคนทำงาน ผลกระทบจากสถานการณ์ COVID-19 และความคาดหวังของลูกค้าที่เปลี่ยนไป สิ่งเหล่านี้ล้วนผลักดันให้อุตสาหกรรม AEC ปรับการวางแผนและการจัดการการก่อสร้างให้สอดคล้องกับโลกยุคดิจิทัล แต่ถึงแม้อุตสาหกรรม AEC จะสร้างข้อมูลด้านโลเคชันมากมายเพียงใด ข้อมูลเหล่านั้นกลับแทบไม่ได้ถูกนำไปใช้เลย สอดคล้องกับรายงานการวิเคราะห์ของบริษัทที่ปรึกษาด้านการเงินและการลงทุน FMI ที่ระบุว่าข้อมูลที่ถูกเก็บในอุตสาหกรรมวิศวกรรมและการก่อสร้างถึง 95 เปอร์เซ็นต์ไม่ถูกนำไปใช้เลย อย่างไรก็ดี เมื่อองค์กรนำเทคโนโลยี GIS มาใช้ ทำให้สามารถนำข้อมูลของโครงการเข้าไปนำเสนอใน Dashboard ที่มีการอัพเดทแบบเรียลไทม์ ซึ่งช่วยให้องค์กรเข้าถึงข้อมูลเชิงพื้นที่อันมีค่ามหาศาลที่เรียกว่า Location intelligence หรือ Spatial insight และนี่เองคือความได้เปรียบในการแข่งขัน เพราะ Spatial insight ช่วยให้การทำงานต่าง ๆ มีความรวดเร็วยิ่งขึ้น ทั้งยังช่วยลดค่าใช้จ่าย ทำให้ภายในองค์กรเกิดความร่วมมือและมีความคิดเห็นสอดคล้องกัน และช่วยส่งเสริมการรับรู้ด้านความยั่งยืนตลอดกระบวนการการออกแบบและการก่อสร้าง

ยิ่งไปกว่านั้น การเห็นข้อมูลที่แสดงผลเป็นภาพบนแผนที่หรือในรูปแบบ 3D นอกจากจะช่วยให้การสื่อสารมีประสิทธิภาพ ยังทำให้การตัดสินใจรวดเร็วขึ้นด้วย และหนึ่งในตัวอย่างคือบริษัทที่นำเทคโนโลยี GIS มาใช้ในโครงการสร้างทางรถไฟ โดยทำการสร้าง Digital twin ในรูปแบบ 5D เพื่อมอนิเตอร์ตารางเวลางาน ค่าใช้จ่าย หรือแม้แต่ตำแหน่งการวางสายรัดรางรถไฟ และตอม่อสะพาน

 

มุ่งสู่ Net Zero

องค์กร AEC เริ่มเห็นความจำเป็นที่จะต้องปรับตัวสู่โลกดิจิทัลเมื่อความท้าทายที่สำคัญกดดันอุตสาหกรรมมากขึ้น และความท้าทายนั้นคือ ความยั่งยืน เราทราบกันดีว่าอุตสาหกรรมการก่อสร้างคือหนึ่งในอุตสาหกรรมที่แทบจะไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพราะอาคารต่าง ๆ คือตัวการปล่อยก๊าซคาร์บอนมากถึง 40 เปอร์เซนต์ อย่างไรก็ดีกฎระเบียบใหม่ ๆ ต่างคำนึงถึงการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพในเมืองใหญ่ และมุ่งเป้าที่จะลดแนวโน้มการปล่อยก๊าซให้น้อยลง

ตัวอย่างกฎระเบียบใหม่ ๆ เช่น กฎหมายท้องถิ่น “Local Law 97” ของเมืองนิวยอร์ค ที่มีการกำหนดขีดจำกัดการปล่อยก๊าซคาร์บอนของอาคารที่มีขนาดมากกว่า 25,000 ตารางฟุต โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อลดการปล่อยก๊าซลง 80 เปอร์เซ็นต์ภายในปี ค.ศ. 2050 และนโยบาย Green New Day ของลอสแอนเจลิสก็คาดหวังว่าอาคารภายในเมืองจะสามารถลดการปล่อยก๊าซให้เป็นศูนย์ได้ภายในปีเดียวกัน ส่วนที่ประเทศอังกฤษก็มีมาตรฐานด้านพลังงานใหม่ที่อาจทำให้อาคารสำนักงานงานกว่าครึ่งกลางเมืองลอนดอนถูกพิจารณาว่าไม่ผ่านมาตรฐานในปี ค.ศ. 2027

การนำเทคโนโลยี GIS ที่ทำให้เห็นบริบทเชิงพื้นที่มาใช้จึงเป็นการช่วยให้ผู้บริหารเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างอาคาร สภาพแวดล้อมโดยรอบ และสิ่งแวดล้อม สอดคล้องกับกฎระเบียบใหม่ ๆ ทั้งการผสมผสานกันระหว่างเทคโนโลยี GIS ซอฟต์แวร์ Building information modeling (BIM) และเทคโนโลยี Smart building ยังช่วยให้ดีไซเนอร์มองเห็นรูปแบบของอาคาร สามารถคำนวณและวิเคราะห์ประสิทธิภาพการใช้พลังงาน คาร์บอนฟุตปริ้นท์ และน้ำเสีย ได้อย่างแม่นยำ

เทคโนโลยี Location intelligence สามารถทำประโยชน์ให้องค์กร AEC ได้มาก เช่น สามารถแสดงให้เห็นว่าฟาซาดกระจกของอาคารทางทิศใต้หรือทิศตะวันออกจะทำให้เกิดแสงหรือความร้อนสะท้อนไปที่ตึกข้าง ๆ ได้อย่างไร เทคโนโลยี GIS ยังช่วยให้ผู้ที่มีหน้าที่ดูแลอสังหาริมทรัพย์ทั่วเมืองหรือมีกลุ่มอาคารจำนวนมากสามารถนำ Smart map ไปใช้เพื่อแสดงภาพหรือคาดการณ์แนวโน้มการใช้พลังงานในอีกหลายปีข้างหน้าได้

Donna Huey ผู้ดำรงตำแหน่ง Chief digital officer ของบริษัทดีไซน์ Atkins กล่าวว่า เดี๋ยวนี้กระดาษได้หายไปหมดแล้ว ทีมด้านบริหารจัดการของเธอจึงใช้เทคโนโลยี GIS เป็นหลักสำหรับการจัดระเบียบและแชร์ข้อมูล รวมทั้งใช้สำหรับการส่งมอบงานดีไซน์ของโครงการอย่างไร้รอยต่อ เธอยังกล่าวเสริมอีกว่าองค์กรที่มุ่งสู่การเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้อย่างสมบูรณ์นั้น จำเป็นต้องใช้ Geospatial ร่วมกับ Design เพื่อให้เกิดศักยภาพที่แข็งแกร่ง

 

ก้าวสู่โลกดิจิทัลเพราะเจเนอเรชันที่เปลี่ยนไป

หนึ่งในตัวเร่งให้อุตสาหกรรม AEC เปลี่ยนสู่โลกดิจิทัลนั้นมาจากฝ่ายบุคคล กล่าวคือในปี ค.ศ. 2025 กลุ่มมิลลิเนียลซึ่งเป็นเจเนอเรชันที่ใช้ดิจิทัลกลุ่มแรกกำลังจะกลายเป็นกลุ่มคนทำงานหลักหรือราว ๆ 75 เปอร์เซ็นต์ขององค์กร ซึ่งพวกเขาจะนำเทคโนโลยีและความใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อมมาใช้ในองค์กรด้วย ทั้งคนทำงานสายงานอาชีพ AEC รุ่นใหม่ก็ได้เรียนการใช้เทคโนโลยี GIS ตั้งแต่ในรั้วมหาวิทยาลัย และกำลังนำการใช้งานเชิงภูมิศาสตร์มาใช้ในการทำงาน

Donna Huey มีความคิดเห็นว่า แต่ก่อนใครที่สมัครเข้าทำงานในบริษัทด้านดีไซน์หรือวิศวกรรม​ โดยเฉพาะบริษัทที่มีขนาดใหญ่อาจรู้สึกว่าบริษัทยังใช้เทคโนโลยีล้าหลังอยู่ แต่เมื่อบริษัทต่าง ๆ เริ่มก้าวสู่ยุค Digital transformation และนำเทคโนโลยีอย่าง GIS มาใช้ เห็นได้ชัดว่าพนักงานรุ่นใหม่สามารถปรับการทำงานไปพร้อมเทคโนโลยีใหม่ ๆ เหล่านี้ได้อย่างรวดเร็ว

เมื่อเจาะลึกถึงพนักงานที่อยู่ในวัย 20-30 กว่าปี พวกเขาเติบโตมาพร้อมกับภาพยนตร์และวิดีโอเกมส์ที่ออกแบบ CG ได้สมจริง นั่นจึงทำให้พวกเขามีความคาดหวังและชื่นชอบการวิเคราะห์ที่เห็นเป็นภาพ อย่างเช่น เทคโนโลยี GIS ที่เปลี่ยนข้อมูลบน Spreadsheet ให้กลายเป็น Interactive smart map หรือการนำภาพถ่ายจากโดรนมาผสมผสานในการแสดงผล ก็ทำให้ผู้บริหารสามารถมองเห็นอาคารในรูปแบบ 3D และสามารถดูกระบวนการก่อสร้างได้ตลอดวงจร ทั้งยัง Rewind หรือ Fast-forward ก็ได้

 

COVID-19 กระตุ้นความก้าวหน้าทางดิจิทัล

ก่อนหน้านี้การทำงานร่วมกันในอุตสาหกรรม AEC จำเป็นต้องรวมตัวกันบนโต๊ะดราฟต์ของสถาปนิก หรือหน้าจอคอมพิวเตอร์ร่วมกับทีมก่อสร้างภาคสนาม แต่ในช่วงสถานการณ์โรคระบาด COVID-19 ในปี ค.ศ. 2020 บังคับให้ทุกคนไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็ตามต้องทำงานผ่านดิจิทัลเพื่อติดตามความก้าวหน้าของโครงการ จนปัจจุบันนี้บริษัทต่าง ๆ จึงปรับรูปแบบการทำงานใหม่สู่รูปแบบไฮบริด เพราะการทำงานแบบดิจิทัลกลายเป็นมาตรฐานการทำงานแบบใหม่และทำให้เกิดนวัตกรรมใหม่ ๆ อย่างรวดเร็ว

การนำเทคโนโลยี GIS มาใช้ช่วยให้พนักงานที่ไซต์ก่อสร้างสามารถเข้าใช้ข้อมูลผ่านโมบาย และทำการป้อนข้อมูลแบบเรียลไทม์เข้า Dashboard เพื่อให้ผู้บริหารและลูกค้าได้เห็นพร้อมกันไม่ว่าพวกเขาจะอยู่ที่ไหนก็ตาม ในขณะเดียวกันผู้มีอำนาจตัดสินใจก็สามารถรับรู้สถานการณ์ที่ไซต์งาน โดยไม่จำเป็นต้องให้ทีมงานภาคสนามเดินทางไปที่ออฟฟิศเพื่อแสดงข้อมูลเหล่านั้น ซึ่งส่งผลดีทั้งช่วยประหยัดเวลา และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน รวมไปถึงผู้บริหารระดับ COO และ CEO ก็ได้ประโยชน์จากการใช้เทคโนโลยีเชิงพื้นที่ในการค้นหาข้อมูลที่ต้องการ เพียงแค่ซูมแผนที่บริเวณที่ต้องการเท่านั้น โดยไม่ต้องค้นหาข้อมูลในตารางใน Spreadsheet อีกต่อไป

Donna Huey มีความเห็นว่า แม้คำเฉพาะที่ใช้กันบ่อยภายในอุตสาหกรรมอย่าง Project data life cycle และ Digital project delivery จะไม่ใช่คำที่ลูกค้าเข้าใจมากนัก แต่เราก็สามารถใช้เว็บเทคโนโลยีเพื่อรวมคนทำงานทั้งหมดของโครงการ และร่วมกันทำงานโดยใช้ข้อมูลเชิงพื้นที่ผ่านเทคโนโลยี GIS

 

เมื่อดิจิทัลเพิ่มบทบาทของลูกค้า

แท้จริงแล้วแรงกดดันที่ผลักดันให้เกิดการใช้แพลตฟอร์มดิจิทัลอย่างเทคโนโลยี GIS ในการทำงานร่วมกันนั้นมาจากลูกค้าและเจ้าของโครงการ เพราะพวกเขาก็ต้องการออกจากข้อจำกัดในการจัดการเดิม ๆ และก้าวเข้าสู่วิธีการแบบ Design-build model และ Integrated project delivery แทน

ลูกค้าในยุคสมัยนี้ไม่ต้องการรอจนโครงการแล้วเสร็จถึงทราบผลการรายงานอีกต่อไป ทั้งยังไม่ต้องการงานที่ล่าช้า หรือค่าใช้จ่ายที่บานปลาย ซึ่งรายงานจาก McKinsey ยังชี้ให้เห็นว่าโครงการเมกะโปรเจ็กต์ถึง 98 เปอร์เซนต์ท้ายที่สุดแล้วทำเกินงบประมาณไปมาก และบริษัทมากถึง 3 ใน 4 ที่ส่งงานล่าช้าไปมากถึง 40 เปอร์เซนต์จากที่ประเมินไว้ และแม้แต่โครงการขนาดเล็กก็มีความล่าช้าไม่แตกต่างกัน

แต่ในปัจจุบันเทคโนโลยีดิจิทัลมากมายแสดงให้เห็นแล้วว่าสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานได้มากขึ้นจริง เช่น การใช้ Dashboard ในรูปแบบเว็บที่ใช้เทคโนโลยี GIS ช่วยให้เจ้าของโครงการสามารถพูดคุยกับสถาปนิก วิศวกร และผู้รับเหมา ทั้งยังช่วยให้ผู้บริหาร COO สามารถประเมินสถานะของโครงการผ่าน Colored dial และแผนผังที่ใช้งานง่าย หรือแม้กระทั่งเจ้าของโครงการปัจจุบันนี้ต่างก็ต้องการ Design delivery ในรูปแบบดิจิทัลที่สามารถเรียกดูได้ตลอดวงจรชีวิตของโครงการ

 

อุตสาหกรรม AEC ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อม

อุตสาหกรรม AEC เป็นอุตสาหกรรมที่ใช้วัสดุจำนวนมหาศาล ตามรายงาน The Economist ระบุว่าซีเมนต์เกือบทั้งโลก เหล็กกว่าครึ่งของโลก และ 25 เปอร์เซ็นต์ของอลูมิเนียมและพลาสติกทั้งหมดถูกนำมาใช้เพื่ออุตสาหกรรมนี้ ซึ่งเป็นภาคการผลิตที่ล้วนปล่อยก๊าซคาร์บอนในชั้นบรรยากาศอย่างมหาศาลตลอดกระบวนการผลิต และรวมไปถึงระบบการสร้างพลังงาน การสร้างความร้อน และความเย็นภายในบ้านและอาคารสำนักงานก็ล้วนปล่อยก๊าซอย่างมากด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ดี การใช้เทคโนโลยี GIS ผสาน BIM สามารถช่วยให้ดีไซเนอร์ วิศวกร และผู้รับเหมาได้สร้างโครงสร้างทั้งหมดในรูปแบบดิจิทัลเสียก่อน ซึ่งการแสดงภาพในรูปแบบโมเดล 3D ช่วยให้พวกเขาสามารถประเมินว่าการปรับเปลี่ยนงานดีไซน์จะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้นหรือลดลงเพียงใดก่อนที่จะลงมือเทปูนลงพื้นที่จริง นอกจากนั้น ทีมงานยังสามารถทดลองทางเลือกต่าง ๆ บนดิจิทัลเพื่อให้ลูกค้าพิจารณาแนวทางเพื่อมุ่งสู่ Net-zero emission เช่น การระบายอากาศ การใช้พลังงานความร้อนจากใต้พิภพ การติดตั้งแผงโซล่าเซลล์ หรือการรีไซเคิลวัสดุก่อสร้าง เป็นต้น

การได้ข้อมูลเชิงลึกอย่าง Spatial insight ยังช่วยให้ผู้นำทางธุรกิจตระหนักรู้ถึงการสร้างขยะที่เกิดขึ้นตลอดกระบวนการ ซึ่งส่งผลกระทบทั้งต่อสิ่งแวดล้อมและต่อผลตอบแทนทางการเงิน ผู้บริหารที่สนใจในการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมอาจหาวิธีใช้น้ำอย่างชาญฉลาดโดยใช้เทคโนโลยี GIS ร่วมกับดีไซเนอร์และวิศวกรเพื่อหาโซลูชันใหม่ ๆ ทั้งยังสามารถออกแบบระบบที่สามารถนำน้ำทิ้ง (Grey water) กลับมาใช้ใหม่ หรือรีไซเคิลภายในอาคาร หรือนำมาใช้เพื่อชี้จุดพื้นที่เสี่ยงเกิดปัญหาเกี่ยวกับน้ำในอนาคตก็ได้

 

การเติบโตของอาคารรูปแบบใหม่ในอนาคต

ความต้องการการก่อสร้างอาคารใหม่จะมีเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า และพื้นที่ของอาคารทั่วโลกคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเท่าตัวในปี ค.ศ. 2060 อย่างไรก็ดี ความต้องการการก่อสร้างที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมที่เพิ่มมากขึ้นประกอบกับการเติบโตของการทำงานในรูปแบบดิจิทัล ทำให้มาตรฐานการทำงานแบบเดิม ๆ ในอุตสาหกรรม AEC ใช้ไม่ได้อีกต่อไป หากองค์กรนำ Location intelligence มาใช้ย่อมช่วยให้ผู้บริหารตอบสนองต่อแนวโน้มที่เปลี่ยนไปได้อย่างง่ายดาย ทั้งยังดึงดูดให้คนรุ่นใหม่เข้าร่วมงาน สามารถตอบสนองความต้องการลูกค้าได้เป็นอย่างดี และนำพาองค์กรมุ่งสู่การเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมยุคใหม่ได้อย่างเหนือชั้น

 

 


 

ค้นหาศักยภาพของเทคโนโลยี GIS กับการประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมอื่นๆ เพิ่มเติม

 

อ่านเพิ่มเติม