เทคโนโลยี GIS เครื่องมือช่วยชุมชนรู้ทันภัยจากสภาพอากาศ

การแก้ปัญหาและการร่วมมือกันเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนั้นต้องเริ่มจากการแชร์ความรู้ ความชำนาญ และข้อมูลที่ถูกต้องและรวดเร็ว

ที่สหรัฐอเมริกา ทำเนียบขาวได้เปิดตัวเครื่องมือใหม่ซึ่งเป็นการพัฒนาร่วมกันระหว่าง the National Oceanic and Atmospheric Administration, the Department of Interior, และ the US Global Change Research Program โดยเป็นเครื่องมือที่มอบข้อมูลทางวิทยาศาสตร์เพื่อให้คนทั่วไปเข้าใจและรับรู้ถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่กำลังเกิดขึ้น นับเป็นความก้าวหน้าเพื่อเป้าหมายการรับมือต่อสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง

ในความก้าวหน้านี้ Esri ได้มีส่วนร่วมกับรัฐบาลไบเดนในการพัฒนา Climate Mapping for Resilience and Adaptation (CMRA) Portal เพื่อช่วยให้หน่วยงานของเมือง รัฐ ประเทศ และกลุ่มชนพื้นเมือง ตัดสินใจได้ดียิ่งขึ้นว่าจะรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ไหนและอย่างไร โดยสิ่งสำคัญของพอร์ทัลนี้คือ CMRA Assessment Tool ที่มีชื่อว่า “Camera” ที่ทำให้เราสำรวจสภาพภูมิอากาศปัจจุบันและแนวโน้มในอนาคตของพื้นที่ที่เราทำงานและใช้ชีวิตอยู่ได้

ในขณะที่โครงสร้างพื้นฐานของสหรัฐฯ กำลังเดินหน้ายกเครื่องใหม่ เราต้องมั่นใจได้ว่าสิ่งที่กำลังถูกสร้างหรือปรับปรุงอยู่นั้น ไม่ว่าจะเป็นถนน สะพาน ทางรถไฟ ระบบไฟฟ้า ระบบน้ำ เส้นทางการขนส่ง สนามบิน ไปจนกระทั่งท่าเรือ ต้องพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเพื่อสวัสดิภาพของประชาชนในทุกชุมชน และก่อนที่จะสามารถรับมือได้นั้นเราจำเป็นต้องมีความเข้าใจเสียก่อน

(Climate Mapping for Resilience and Adaptation (CMRA หรือ Camera) รวบรวมข้อมูลทั่วทั้งรัฐบาลกลางสหรัฐเพื่อให้ประชาชนรับรู้อันตรายที่เกิดขึ้นจากภัยธรรมชาติในท้องที่ของตน)

 

ข้อมูลภายใน CMRA เหล่านี้ไม่ใช่ข้อมูลใหม่ แต่แท้จริงแล้วเป็นการสะสมความรู้ทางวิทยาศาสตร์และการลงทุนในการสร้างแพลตฟอร์ม Geospatial มาอย่างยาวนาน แต่ในอดีตแหล่งข้อมูลเหล่านี้เข้าถึงได้ยากรวมทั้งเข้าใจยากเพราะไม่สามารถผสมผสานทั้งหมดให้เกิดเป็นภาพที่สมบูรณ์ได้ ด้วยเหตุนี้เทคโนโลยี GIS จึงเข้ามามีบทบาทสำคัญในการรวมข้อมูลทั้งหมดเพื่อให้เราเข้าใจปัญหาที่มีความซับซ้อนผ่านบริบทด้านโลเคชัน

ภายในพอร์ทัลได้รวมข้อมูลทั้งหมดไว้ในที่เดียวเพื่อให้ทุกคนเข้าดูได้ง่ายในรูปแบบแผนที่ แผนภูมิ และรายงาน เพื่อตอบโจทย์สำหรับนักวางผังเมือง เจ้าหน้าที่รับมือภัยพิบัติ นักวางแผนการขนส่ง หัวหน้ากลุ่มชนพื้นเมือง ไปจนกระทั่งประชาชนทั่วไป ทั้งนี้ข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อม และข้อมูลปัจจัยทางสังคมและเศรษฐกิจนั้นสามารถเป็นตัวกำหนดว่าเราจะสามารถฟื้นตัวจากภัยทางธรรมชาติได้ดีแค่ไหน

มองเห็นความเสี่ยง

เพียงแค่พิมพ์ที่อยู่หรือเลือกจุดบนแผนที่ภายใน CMRA Assessment Tool คุณก็สามารถเห็นแนวโน้มสภาพอากาศในอนาคตที่สัมพันธ์กับความร้อน ความแห้งแล้ง น้ำท่วมในแผ่นดิน น้ำท่วมชายฝั่ง และไฟป่า ตั้งแต่ช่วงต้นปีศตวรรษที่ 21 (ค.ศ. 2015-2044) และในช่วงกลาง (ค.ศ. 2035-2064) และในช่วงปลาย (ค.ศ. 2070-2099) บนการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศใน 2 กรณี คือ หากเราลดการปล่อยการสะสมก๊าซดักความร้อนให้เป็นศูนย์ภายในปี ค.ศ. 2040 และอีกกรณีหากการปล่อยก๊าซเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจวบจนปี ค.ศ. 2100 ตัวชี้วัดเหล่านี้ชี้ให้เห็นแนวโน้มของฝนตกหนักและความร้อนสุดขั้ว จำนวนวันที่อาจเกิดภัยแล้ง และเปอร์เซ็นต์ของผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อเมืองชายทะเลจากการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล

การกำหนดความร้อนสุดขั้วนั้นดูจากจำนวนวันที่มีอุณหภูมิสูงเกิน 105 ฟาเรนไฮต์ ตัวอย่างเช่น ในการสำรวจสำมะโนประชากรซึ่งรวมเมืองเรดแลนด์ส ที่ตั้งของบริษัทอีเอสอาร์ไอ สำนักงานใหญ่รัฐแคลิฟอร์เนียร์ แสดงผลลัพธ์ว่ามีโอกาสมากถึง 22-42 วันต่อปีในช่วงปลายศตวรรษ (ในขณะที่ปี ค.ศ. 1990 มีน้อยกว่า 4 วัน ซึ่งหลาย ๆ องค์กรนานาชาติต่างใช้ปีนี้เป็นพื้นฐานของการคำนวณค่าการปล่อยก๊าซ) ในขณะที่ วอชิงตัน ดี.ซี. มีจำนวนวันที่อุณหภูมิสูงเกินกว่า 95 ฟาเรนไฮต์เพิ่มขึ้นจาก 19 วันต่อปีในช่วงต้นศตวรรษ กลายเป็น 64 วันในช่วงปลายศตวรรษเลยทีเดียว

แม้ว่ากลยุทธ์การรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอาจเป็นเรื่องปกติของเมืองใหญ่ อย่างเมืองบอสตัน ไมอามี และลอสแอนเจลิส แต่ในบางเมืองก็อาจยังเข้าไม่ถึงข้อมูลเหล่านี้ ด้วยเหตุนี้ CMRA Portal จึงมุ่งเติมช่องว่างทางความรู้เพื่อให้ชุมชนสามารถแยกแยะอันตรายจากสภาพอากาศ และจัดลำดับความสำคัญในการรับมือ รวมทั้งเข้าถึงโครงการต่าง ๆ ที่สนับสนุนเงินทุนในการแก้ปัญหา

พอร์ทัลนี้มีประโยชน์อย่างยิ่งต่อเจ้าหน้าที่รัฐ คนท้องถิ่น รวมทั้งผู้นำกลุ่มชนพื้นเมือง เพราะทำให้เข้าใจแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิ ฝน และน้ำท่วมในท้องถิ่นได้ดียิ่งขึ้น ทั้งยังสามารถทำเป็นรายงานภัยทางสภาพอากาศรวมอยู่ในกลยุทธ์ของโครงการในอนาคต หรือเสริมในแผนการรับมือสภาพอากาศ หรือแผนการหาทุนก็ได้ นอกจากนั้นยังสามารถแสดงให้เห็นชุมชนที่ด้อยโอกาส (พิจารณาจากคะแนนความยุติธรรมทางสิ่งแวดล้อม) ซึ่งชุมชนเหล่านี้มีสิทธิได้รับเงินทุนก่อน และนี่คือความตั้งใจที่จะทำให้เกิดความเสมอภาคเมื่อผู้นำของรัฐทำการวางแผนและดำเนินการตามมาตรการการรับมือต่าง ๆ โดยปัจจุบันรัฐบาลได้ก่อตั้งโครงการริเริ่ม Justice40 ซึ่งเป็นความพยายามที่จะส่งมอบผลประโยชน์ 40 เปอร์เซ็นต์จากการลงทุนของรัฐบาลไปยังชุมชนที่ด้อยโอกาส ประกอบด้วยกลุ่มคนชายขอบ กลุ่มที่ขาดโอกาส และกลุ่มที่เสี่ยงในการรับมลพิษมากเกินไป

ในขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจตัดสินใจด้านการมอบทุนก็สามารถใช้เครื่องมือนี้พิจารณาโครงการตามโลเคชันของโครงการนั้นเพื่อให้มั่นใจว่าทุนจะไปถึงโครงการที่มีความจำเป็นมากที่สุด และเป็นโครงการที่มีแนวทางการรับมือในชุมชนเพื่อคนรุ่นหลังอย่างแท้จริง ทั้งยังทำให้มั่นใจในความเท่าเทียมในการกระจายทุนด้วยการตรวจสอบลำดับทุนที่มีสิทธิได้ผ่านโครงการริเริ่ม Justice40 อีกด้วย ยิ่งไปกว่านั้น ประชาชนทั่วไปที่มีความสนใจก็สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับภัยด้านสภาพอากาศที่อาจกระทบพื้นที่ที่ตนอาศัยอยู่รวมทั้งพื้นที่ใกล้เคียงได้ หรือจะเข้าไปสำรวจดูแผนที่ หรือทำรายงานที่สามารถส่งต่อให้กับผู้อื่นเพื่อสร้างแรงบันดาลใจในการแก้ปัญหาร่วมกันก็ได้

เป็นหลักฐานเพื่อสนับสนุนการขอทุน

นอกจากข้อมูลเกี่ยวกับแนวโน้มสภาพอากาศในอนาคตแล้ว ในพอร์ทัลนี้ยังมีลิงก์ของแหล่งเงินทุนภาครัฐ มีข้อมูลนโยบายด้านสภาพอากาศ และการแก้ปัญหาที่สำเร็จในอดีตจากหลายชุมชน โดยภายในลิงก์ของ US Climate Resilience Toolkit ประกอบด้วยวิดีโอและเรื่องราวกรณีศึกษาต่าง ๆ เช่น เรื่องราวของชนกลุ่มหนึ่งทานตอนเหนือของรัฐกำลังปลูกป่าทดแทนเพื่อปรับตัวตามสถานการณ์ในอนาคต และเรื่องราวของเมืองต่าง ๆ ในรัฐมินนิโซตาที่ปรับระบบขนส่งและจราจร พร้อมขยายเวลาการทำงานของ Cooling center เพื่อให้ประชาชนสามารถใช้พักหลบอากาศร้อนจัดได้

เทคโนโลยีอย่าง CMRA Portal ช่วยให้เกิดพลังความร่วมมือที่มีความจำเป็นอย่างยิ่ง ไม่ว่าจะเป็นการรวบรวมข้อมูลจากหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อช่วยให้การตัดสินใจมีประสิทธิภาพขึ้น ทั้งยังเผยให้เห็นการแก้ปัญหาที่เป็นประโยชน์กับผู้อื่น และทำให้มีช่องทางการขอทุนที่มีหลักฐานสนับสนุนสำหรับทุก ๆ ชุมชน

Open Data เพิ่มมูลค่าให้มากยิ่งขึ้น

ภายใน CMRA Portal นั้นมี Open data ที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศร่วมอยู่ด้วย ช่วยให้ผู้ใช้งานสามารถเข้าถึงและรวบรวมข้อมูลด้าน GIS ได้ หรือจะรวมเข้ากับเครื่องมือประมวลผลอื่น ๆ ก็ได้ ทั้งนี้การบริการคอนเทนต์หรือ Open data ภายใน CMRA Portal ยังอนุญาตให้คุณติดตั้งเครื่องมือและแผนที่ใหม่เพื่อให้ตรงตามปัญหาของท้องที่ของได้อีกด้วย

นายเดวิด เจ. เฮยส์ ผู้ช่วยพิเศษประธานาธิบดีไบเดนด้านนโยบายสภาพภูมิอากาศกล่าวในงานสัมมนาประจำปี Esri User Conference ในเดือนกรกฎาคมว่า “ณ ขณะนี้ไม่มีบริการไหนของรัฐบาลกลางสหรัฐที่จะสำคัญมากไปกว่าการมอบข้อมูลของผลกระทบด้านสภาพอากาศซึ่งเป็นข้อมูลด้านภูมิศาสตร์ให้กับชาวอเมริกาทุกคนได้รับทราบถึงความรุนแรงที่กำลังเกิดขึ้นต่อชุมชนและนำมาซึ่งการสูญเสียชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดี”

ปัจจุบันทำเนียบขาวมีข้อมูลที่ถูกต้อง เชื่อถือได้ รวมถึงมีเครื่องมือที่ดี และประชาชนให้ความสนใจในข้อมูลด้านสภาพอากาศมากกว่าในปีก่อน ๆ โดยพอร์ทัลนี้สามารถเชื่อมทุกคนและผลักดันผู้นำต่าง ๆ ให้ใช้ข้อมูลเพื่อประกอบการตัดสินใจเพื่อให้เกิดการแก้ปัญหาที่สร้างการเปลี่ยนแปลงได้จริง

ตลอดมาแผนที่ได้ทำหน้าที่จุดประกายจินตนาการและเป็นเครื่องมือในการสื่อสารและตอบคำถาม เป็นเครื่องมืออัจฉริยะที่สามารถแสดงสถานการณ์ที่เรากำลังเผชิญอยู่และสิ่งที่เราจะต้องเผชิญในอนาคตได้อย่างแม่นยำ พอร์ทัลออนไลน์นี้จึงเป็นความหวังใหม่ให้ทุกคนเกิดแรงบันดาลใจผ่านการได้เห็นสิ่งที่เผชิญอยู่ในท้องที่ ในภูมิภาค และในประเทศ และลงมือรับมือกับความท้าทายนี้ร่วมกัน

 

 


 

ค้นหาศักยภาพของเทคโนโลยี GIS กับการประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมอื่นๆ เพิ่มเติม

 

อ่านเพิ่มเติม