ชี้เป้าทำเลศักยภาพสร้างพลังงานแสงอาทิตย์ ก้าวสู่อนาคตพลังงานสะอาดด้วย GIS

 

รัฐเคนทักกีสหรัฐอเมริกากำลังเปลี่ยนโฉมจากผู้ผลิตถ่านหินรายใหญ่ไปสู่แหล่งผลิตพลังงานหมุนเวียน แม้ครั้งหนึ่งจะเคยเป็นผู้ผลิตถ่านหินรายใหญ่ที่สุดของสหรัฐ และยังคงเป็นหนึ่งใน 3 รัฐที่ผลิตถ่านหินมากที่สุด แต่รัฐเคนทักกีเลือกที่จะเดินหน้าสู่อนาคตที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานทางเลือก ไม่ว่าจะเป็นพลังงานน้ำ พลังงานชีวมวล และพลังงานแสงอาทิตย์ เนื่องจากปริมาณการใช้และผลิตถ่านหินที่ลดลง ผนวกกับความต้องการซื้อพลังงานหมุนเวียนที่เพิ่มขึ้นจากธุรกิจต่าง ๆ ทำให้รัฐเคนทักกีได้รับความสนใจอย่างล้นหลามจากผู้พัฒนาโครงการที่กำลังมองหาพื้นที่ผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ เพราะเป็นรัฐที่มีโครงสร้างพื้นฐานที่แข็งแกร่ง ทั้งยังมีพื้นที่ว่างและมีเหมืองแร่ที่เคยใช้งานมาก่อน เคนทักกีจึงชูตัวเองเป็นรัฐที่มีศักยภาพในการเป็นแหล่งผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ แต่คำถามต่อมาก็คือ ‘แล้วที่ตรงไหนควรตั้งโครงการ’

หน่วยงานด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อมของรัฐเคนทักกี จึงเริ่มศึกษาหาคำตอบ โดย Kenya Stump ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายพลังงานของรัฐเคนทักกี ให้ความเห็นว่า “ต้นทุนที่ถูกลงทำให้พลังงานแสงอาทิตย์ได้รับความนิยมภายในรัฐมากขึ้นเรื่อย ๆ จึงมีคำถามจากผู้คนมากมาย เช่น ทำไมไม่ไปสร้างพลังงานแสงอาทิตย์ที่เหมืองแร่ล่ะ แต่คำถามเหล่านี้ล้วนเกี่ยวข้องกับภูมิสารสนเทศ นั่นคือ ที่ไหนบ้างที่เหมาะสมสร้างพลังงานแสงอาทิตย์”

ก่อนหน้านี้สำนักงานนโยบายพลังงานยังไม่มีกลไกในการรับฟังและตอบคำถามเกี่ยวกับทำเลในการสร้างพลังงานแสงอาทิตย์ บริษัทพัฒนาโครงการจึงเลือกสถานที่เองโดยแทบไม่ได้รับข้อมูลใด ๆ จากรัฐ “พลังงานแสงอาทิตย์เป็นเรื่องใหม่มากสำหรับรัฐเคนทักกี ผู้พัฒนาโครงการมักเลือกสถานที่เอง แต่เราก็ไม่เข้าใจว่าทำไมเขาถึงเลือกพื้นที่นั้น เราได้รับการแจ้งเข้ามาเท่านั้นว่าโครงการใหม่กำลังจะเกิดขึ้นที่นั่นและที่นี่” Stump กล่าว

หน่วยงานด้านพัฒนาเศรษฐกิจของรัฐเคนทักกีได้ถามไปยังสำนักงานนโยบายพลังงานถึงทำเลที่ควรสร้างพลังงานแสงอาทิตย์ แต่ก่อนหน้านี้ทางสำนักงานก็ไม่มีวิธีการประเมินทำเลที่เหมาะสม และเห็นว่าพื้นที่ที่เป็นโครงการพัฒนาอุตสาหกรรมแบบเดิมก็ยังไม่ใช่คำตอบ ทั้งลักษณะของพื้นที่ก็ควรต้องนำมาพิจารณาด้วย เช่น ลักษณะภูมิประเทศ ความลาดชัน หรือที่อยู่ของสัตว์ใกล้สูญพันธ์ ด้วยเหตุนี้ทางทีมงานของสำนักงานนโยบายพลังงานจึงนำเทคโนโลยี GIS มาสร้างแพลตฟอร์มที่มีชื่อว่า ‘Solar Site Potential in Kentucky’ เพื่อชี้แนะผู้พัฒนาโครงการถึงสถานที่ที่เหมาะสม

 

โซลูชันอัจฉริยะสำหรับการเลือกทำเลที่ตั้ง

ในช่วงเริ่มต้นทีมงานพยายามหาแนวทางปฏิบัติจากรัฐอื่น ๆ มาปรับใช้ซึ่งหาไม่ได้มากนัก แต่ด้วยความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญด้าน GIS ของรัฐผนวกกับ Esri จึงสามารถนำเทคโนโลยี GIS มาใช้เพื่อทำการวิเคราะห์หาทำเลที่เหมาะสมบนแปลงที่ดินว่างเปล่าเพื่อพัฒนาเป็นแหล่งพลังงานแสงอาทิตย์ การวิเคราะห์นี้ประเมินพื้นที่โดยอิงตามเกณฑ์ความเป็นไปได้ทางเทคนิคในการก่อสร้าง แล้วจึงให้คะแนนแต่ละแปลงที่ดินต่อไป

ทีมงานของ Stump ได้ร่วมมือกับที่ปรึกษาเหมืองแร่และผู้พัฒนาโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อรวบรวมแต่ละชั้นข้อมูลและกำหนดเกณฑ์ที่ใช้ในการเปรียบเทียบทำเลต่าง ๆ โดยความร่วมมือนี้ได้รับการสนับสนุนจาก KY Geography Network (KYGeoNet) ซึ่งเป็นคลังข้อมูลเชิงพื้นที่ของรัฐเคนทักกี ซึ่ง Melissa Miracle ที่ปรึกษาไอทีและผู้จัดการโครงการของหน่วยงานด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อมของรัฐเคนทักกี และเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่อง KyGeoNet ได้ทำการศึกษารวบรวมข้อมูลสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ในท้องที่ร่วมกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าของรัฐ ให้ความเห็นในการรวบรวมข้อมูลว่า “มันยากมากเลย เพราะเราไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลดิบได้เอง เราจึงร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ที่ดูแลเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเพื่อสร้างชั้นข้อมูลต่าง ๆ ที่ต้องการ การให้เจ้าหน้าที่เข้ามามีส่วนร่วมในโครงการนับว่าจำเป็นอย่างยิ่ง เพราะผู้พัฒนาโครงการจะได้รู้ว่าที่ไหนสร้างได้และที่ไหนไม่ควรสร้าง” นอกจากงานดังกล่าว Miracle ยังได้ร่วมมือกับฝ่ายทรัพยากรธรรมชาติเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ของเหมืองแร่ภายในรัฐเคนทักกีอีกด้วย Stump กล่าวเสริม “พวกเราเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ เยอะมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องลักษณะของพื้นที่ การเข้ารหัสข้อมูล ไปจนกระทั่งศัพท์เฉพาะเรื่องการฟื้นฟูสภาพเหมืองแร่”

การร่วมมือกันครั้งนี้ช่วยให้ทีมงานสามารถคลี่คลายข้อสงสัยต่าง ๆ ของผู้สร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ไม่ว่าจะเรื่องความลาดชันที่เหมาะสม ประเภทของที่ดิน (ที่ดินรกร้าง ป่าเบญจพรรณ หรือพื้นที่เพาะปลูก) การเข้าถึงสายส่งไฟฟ้า ความหนาแน่นของประชากร ระยะห่างจากที่อยู่ของสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ ไปจนกระทั่งสถานะของที่ดิน (ที่ดินของรัฐหรือพื้นที่คุ้มครอง)

 

การสื่อสารกับชุมชน

อีกหนึ่งประโยชน์ที่ได้จากแพลตฟอร์ม Solar Site Potential in Kentucky คือ ‘ความโปร่งใส’ ที่มอบให้กับชุมชนซึ่งอาจได้รับผลกระทบจากการพัฒนาโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ “ชุมชนท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการวางแผนการใช้ที่ดิน แพลตฟอร์มนี้จึงช่วยให้พวกเขาเข้าใจเหตุผลที่ผู้พัฒนาโครงการสนใจที่ดินของพวกเขา เช่น อาจจะเพราะมีความลาดชันที่เหมาะสม สามารถเข้าถึงสายส่งไฟฟ้า หรือลักษณะอื่น ๆ แต่ท้ายที่สุดการตัดสินใจว่าจะทำอะไรกับที่ดินนั้นยังเป็นของคนในชุมชนอยู่ดี” Stump กล่าว

 

 

นอกจากนั้น แพลตฟอร์มยังช่วยให้คนในชุมชนรู้ว่าที่ดินจุดไหนที่กำลังพิจารณาสร้างโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ ข้อมูลนี้มีผลกับคนในชุมชนและการตัดสินใจวางแผนของชุมชนอย่างมาก เพราะเขาอาจต้องการปกป้องที่ดินเพื่อการใช้งานประเภทอื่น หรือรักษาทัศนียภาพไว้เช่นเดิม ซึ่งภายในแพลตฟอร์มยังมีชั้นข้อมูลที่แสดงให้ชุมชนเห็นการแบ่งประเภทการใช้ที่ดิน ซึ่งช่วยให้ผู้พัฒนาสามารถชี้แจงกับชุมชนเกี่ยวกับแผนโครงการได้ง่ายยิ่งขึ้น แพลตฟอร์มนี้ยังวางแผนเพิ่มภาพ 3 มิติเพื่อแสดงให้เห็นพื้นที่ที่มีศักยภาพสำหรับพลังงานแสงอาทิตย์ทั่วทั้งรัฐ ซึ่งจะช่วยให้ผู้พัฒนาโครงการเห็นมุมมองใหม่ทั้งหมด โดยสามารถ ‘บิน’ ดูความลาดชัน เนินเขา หรือที่ราบ

 

ความสำเร็จสู่โอกาสใหม่

ความสำเร็จในการวิเคราะห์ทำเลศักยภาพสำหรับพลังงานแสงอาทิตย์ของรัฐเคนทักกีได้สร้างโอกาสในการทำงานร่วมกับรัฐอื่น ๆ โดย Stump ให้ความเห็นว่า “เพราะความสำเร็จจากผลงานที่กลุ่ม GIS ของเราทำ ทำให้เราเป็นที่รู้จักทั่วประเทศในฐานะหน่วยงานที่ควรติดต่อหากต้องการเริ่มใช้งานระบบ GIS ทั้งเรายังได้ตอบคำถามที่มาจากหลากหลายรัฐที่เกี่ยวกับด้านพลังงาน ซึ่งล้วนเป็นคำถามเชิงภูมิสารสนเทศทั้งสิ้น และนั่นทำให้หน่วยงานพลังงานที่อื่น ๆ ต่างเริ่มเห็นความสำคัญของภูมิสารสนเทศ ว่าพวกเขาควรต้องรู้ว่าโครงการกำลังจะเกิดขึ้นที่ไหน ที่ไหนควรสร้าง ที่ไหนสามารถสร้าง ก่อนที่จะทำการพูดคุยกับคนในชุมชนและหารือเรื่องนโยบายต่อไป” Stump กล่าวทิ้งท้าย

ผู้เชี่ยวชาญด้าน GIS ของรัฐเคนทักกียังมองเห็นโอกาสที่จะใช้เทคโนโลยีนี้ปรับปรุงเครื่องมือการเลือกทำเลที่ตั้งภายในแพลตฟอร์ม โดยผนวกข้อมูลด้านความยุติธรรมด้านสิ่งแวดล้อมเข้าไว้ด้วย

 

 


ค้นหาศักยภาพของเทคโนโลยี GIS กับการประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมอื่นๆ เพิ่มเติม

 

อ่านเพิ่มเติม

Tags: