สร้างแผนที่พัฒนาน้ำ เพิ่มพื้นที่สีเขียว ลดโลกร้อน ด้วยเทคโนโลยี GIS

 

ด้วยพายุฤดูหนาวที่กระหน่ำอย่างหนักในรัฐแคลิฟอร์เนีย ทำให้ระดับน้ำในอ่างเก็บน้ำเพิ่มมากขึ้น แต่ถึงแม้ฝนและหิมะจะตกมากขึ้นเท่าใด อ่างเก็บน้ำก็ไม่สามารถกักเก็บน้ำไว้ได้ เพราะการออกแบบโครงสร้างพื้นฐานเดิมที่ล้าสมัยทำให้การระบายน้ำฝนไหลลงทะเลอย่างรวดเร็ว ลอสแอนเจลิสจึงจำเป็นต้องเปลี่ยนโครงสร้างเสียใหม่

พื้นที่ประมาณหนึ่งในสามของแหล่งน้ำมาจากการสูบน้ำใต้ดิน ซึ่งจะถูกเติมกลับอย่างต่อเนื่องผ่านการซึมผ่านเมื่อฝนตก แต่เนื่องจากน้ำฝนทั้งหมดไม่สามารถถูกกักเก็บได้จึงไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์เป็นน้ำดื่มหรือเติมน้ำใต้ดินได้ บางปีมีปริมาณน้ำที่ไหลลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิกมากถึงหนึ่งแสนล้านแกลลอน ซึ่งเทียบเท่ากับความต้องการปริมาณน้ำสำหรับประชาชนมากกว่า 2 ล้านคนเลยทีเดียว นั่นเป็นสาเหตุที่เป็นจุดเริ่มต้นของโครงการ Safe, Clean Water Program (SCWP) ในลอสแอนเจลิส โดยโครงการส่วนใหญ่ใช้วิธีเลียนแบบกระบวนการตามธรรมชาติเพื่อเพิ่มปริมาณน้ำ ปรับปรุงคุณภาพน้ำ ป้องกันสุขภาพของประชาชน และฟื้นฟูชุมชน หนึ่งในตัวอย่าง คือ โครงสร้างพื้นฐานสีเขียว เช่น แอ่งซึมน้ำ (Infiltration basin) สวนรับน้ำฝน (Rain garden) ทางระบายน้ำแบบเปิด (Bioswales) บ่อน้ำแห้ง (Dry well) พื้นที่ชุ่มน้ำ (Wetland) และทางเท้าที่น้ำซึมผ่านได้ (Permeable pavement) ซึ่งโครงสร้างพื้นฐานสีเขียวเหล่านี้แตกต่างจากโครงสร้างพื้นฐานสีเทา เช่น ท่อระบายน้ำที่มักสร้างด้วยคอนกรีตและเหล็กที่สร้างขึ้นมาเพื่อให้น้ำไหลลงใต้ดินและดันออกนอกพื้นที่

เทคโนโลยี GIS มีส่วนสำคัญในการช่วยเจ้าหน้าที่ SCWP สร้างแผนที่และติดตามความคืบหน้าของแต่ละโครงการ ทั้งประชาชนของลอสแอนเจลิสยังสามารถเข้าชมแผนที่เพื่อดูผลงาน แผนที่ยังช่วยให้ประชาชนเข้าใจบทบาทของแต่ละโครงการมากยิ่งขึ้น โดยแสดงรายละเอียดที่เกี่ยวข้องกับโครงการ เช่น สถานที่ตั้ง และเป้าหมายที่ต้องการบรรลุเมื่อเสร็จสิ้นโครงการ

Kirk Allen วิศวกรโยธาอาวุโสจากกรมโยธาธิการ ลอสแอนเจลิส และหัวหน้าผู้ดูแลเว็บไซต์ SCWP กล่าวว่า “การใช้แผนที่ทำให้ทีมงานและประชาชนเห็นความคืบหน้าของโครงการในรูปแบบที่น่าตื่นตาตื่นใจ พวกเขาสามารถมองเห็นได้ว่าโครงการต่าง ๆ ได้รับการจัดสรรอย่างเท่าเทียมกันหรือไม่ ซึ่งมุมมองเช่นนี้จะไม่สามารถมองเห็นได้เลยถ้าปราศจากแผนที่”

ผสานท้องถิ่นเพื่อแก้ปัญหาน้ำ

ลอสแอนเจลิสนับว่าเป็นหนึ่งในเมืองที่ใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯ ด้วยพื้นที่มากกว่า 4,000 ตารางไมล์ และมีประชากร 9.8 ล้านคน ซึ่งมีพื้นที่รับน้ำหลัก ๆ ทั้งหมด 6 แห่ง ทำหน้าที่รวบรวมน้ำฝนและน้ำไหลซึมก่อนที่น้ำจะไหลลงสู่แม่น้ำ ทะเลสาบ อ่างเก็บน้ำ และมหาสมุทร

หน่วยงานสำคัญในการดูแลพื้นที่รับน้ำเหล่านี้ คือ หน่วยงานควบคุมน้ำท่วมของลอสแอนเจลิส (The Los Angeles County Flood Control District: LACFCD) บริหารโดยกรมโยธาธิการ ซึ่งจำเป็นต้องใช้โครงสร้างพื้นฐานและโครงการมากมายในการจัดการพื้นที่ดังกล่าว ทั้งยังเป็นหน่วยงานที่ทำการส่งเสริมคุณภาพน้ำดื่ม การสันทนาการ และแหล่งอาศัยของสัตว์ป่าในภูมิภาค รวมทั้งเป็นหน่วยงานหลักในการลดภัยพิบัติที่เกิดจากน้ำท่วมและโคลนไหล

เพื่อการพัฒนาน้ำในท้องถิ่นอย่างมีประสิทธิภาพ โครงการ SCWP จึงได้ทำการประสานความร่วมมือระหว่างหัวหน้าหน่วยงานพื้นที่รับน้ำและโครงสร้างพื้นฐานอย่างหน่วยงาน LACFCD เข้ากับหน่วยงานน้ำอื่น ๆ หน่วยงานภาครัฐระดับท้องถิ่น ภาคธุรกิจ ภาคการศึกษา และองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร ทั้งยังมีการนำความคิดเห็นขององค์กรในชุมชนที่มุ่งเน้นด้านสุขภาพและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในแผนงานอีกด้วย เช่น โครงการฟื้นฟูทะเลสาบสวนสาธารณะ Hollenbeck Park ในชุมชน Boyle Heights กรมอนามัยและสิ่งแวดล้อมของลอสแอนเจลิส (The City of Los Angeles Sanitation and Environment department) ได้เชิญองค์กรท้องถิ่นอย่าง Promesa Boyle Heights เข้าร่วมแสดงความคิดเห็นตั้งแต่ช่วงเริ่มต้น และต่อเนื่องไปถึงช่วงพัฒนาโครงการ โดยมีเป้าหมายในการปรับปรุงภูมิทัศน์ของสวนสาธารณะ บรรเทาปัญหาน้ำท่วม และปลูกฝังความรู้ด้านทรัพยากรน้ำแก่เยาวชน

โครงการ SCWP ในแต่ละท้องที่มุ่งแก้ปัญหาสำคัญต่าง ๆ ดังนี้:

– ป้องกันสารพิษและขยะไม่ให้ไหลลงแม่น้ำ

– การกำจัดสิ่งปนเปื้อนและบำบัดน้ำฝน

– เพิ่มพื้นที่สีเขียวและสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับชุมชนและสัตว์ป่า

 

เพิ่มคุณภาพชีวิต

งานวิจัยของมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียชี้ให้เห็นว่า มีหลายชุมชนในเมืองเดวิส ลอสแอนเจลิส ที่ขาดแคลนพื้นที่สีเขียว ซึ่งมีประโยชน์ในการเพิ่มความเย็นให้กับชุมชน และยังช่วยดูดซับน้ำฝน การขาดแคลนนี้ส่งผลให้ชุมชนต้องเผชิญกับปัญหาน้ำท่วมอย่างหนัก

ทาง SCWP เล็งเห็นความสำคัญในจุดนี้ เพราะ SCWP มีหลักการสำคัญคือความเท่าเทียม ทั้งยังส่งเสริมให้ผู้มีส่วนร่วมในการบริหารโครงการคำนึงถึงความต้องการของชุมชนเป็นสำคัญ ทางโครงการจึงสร้างเครื่องมือต่าง ๆ ที่ช่วยให้ทุกคนตระหนักถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำ เช่น เครื่องมือที่ใช้แผนที่เป็นหลักชื่อว่า The County of Los Angeles Equity Explorer ซึ่งรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับความเหลื่อมล้ำที่บางชุมชนกำลังประสบอยู่ ซึ่งเครื่องมือนี้สามารถระบุพื้นที่ที่เคยประสบปัญหาต่าง ๆ เช่น ปัญหาเหยียดสีผิว การลงทุนที่ไม่เท่าเทียมในอดีต และพื้นที่ที่ไม่ได้รับการวางแผนการใช้ที่ดินอย่างเหมาะสม ซึ่ง SCWP ให้ความสำคัญกับการพัฒนาโครงการเหล่านี้เป็นลำดับต้น ๆ พร้อมรับฟังความคิดเห็นของชุมชนเกี่ยวกับสิ่งอำนวยความสะดวกที่พวกเขาต้องการ

การที่ SCWP ให้ความสำคัญกับพื้นที่ที่ถูกละเลย ทำให้สามารถยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับประชาชนในจำนวนที่มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งชุมชนที่ขาดแคลนต้นไม้ส่งผลให้เกิดการกักเก็บความร้อนที่มากขึ้น โดยผลงานวิจัยชี้ไปในทิศทางเดียวกันว่าประชาชนในย่านที่มีรายได้ต่ำของสหรัฐฯ ต้องทนกับอุณหภูมิที่ร้อนมากกว่าย่านของประชาชนที่มีฐานะถึง 7 องศาฟาเรนไฮต์ ซึ่งการมีชุมชนที่มีสวนสาธารณะ ต้นไม้ และแหล่งน้ำมากขึ้นจะช่วยทำให้พื้นที่เหล่านั้นเย็นลง และช่วยลดผลกระทบที่เกิดจากความร้อนได้

“แผนที่เหล่านี้ช่วยให้เราปรับทิศทางของโครงการให้สอดคล้องกับความเหลื่อมล้ำของชุมชน ทั้งยังช่วยบริหารจัดการเงินทุนอย่างเหมาะสมเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านน้ำที่ยั่งยืนและสะอาดยิ่งขึ้น” Kirk Allen กล่าว

 

ประโยชน์สำหรับพื้นที่รับน้ำและประชาชน

SCWP สร้างเว็บไซต์ SCWP Portal เพื่อให้ประชาชนได้เข้าถึงและติดตามข้อมูลของโครงการต่าง ๆ ตามแนวพื้นที่รับน้ำของแม่น้ำ The Lower Los Angeles River (พื้นที่หนึ่งใน 9 แห่งภายใต้โครงการ SCWP) รวมทั้งโครงการย่อยหลายโครงการที่ตั้งอยู่ในบริเวณใกล้เคียงกัน ประกอบด้วยข้อมูลโครงการที่ได้รับทุน โครงการที่แล้วเสร็จ และโครงการที่กำลังดำเนินการอยู่ พร้อมรวบรวมข้อมูลเฉพาะเจาะจงของแต่ละโครงการ เช่น ประโยชน์ที่แต่ละโครงการต้องการให้เกิดขึ้น เป็นต้น

Kirk Allen กล่าวทิ้งท้ายว่า “แผนที่ภายในเว็บไซต์ SCWP Portal ช่วยให้เราเห็นภาพพื้นที่ที่ใช้ระบายน้ำและประโยชน์ที่ชุมชนได้รับ ทั้งแผนที่ยังชี้ให้เห็นความสัมพันธ์ที่อาจเกิดขึ้นระหว่างโครงการต่าง ๆ และเป็นเครื่องมือสำคัญในการหารือระหว่างหน่วยงานบริหารจัดการน้ำฝน ทำให้ทีมงานสามารถวิเคราะห์แผนที่และข้อมูลที่เกี่ยวข้องได้อย่างง่ายดาย ทั้งยังสร้างโอกาสในการร่วมมือ และทำให้เกิดความเข้าใจมากขึ้นว่าโครงการ สามารถยกระดับระบบการกักเก็บน้ำฝนให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นได้อย่างไร ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อนำเครื่องมือดังกล่าวไปใช้ร่วมกับเครื่องมืออื่น ๆ จะช่วยเพิ่มศักยภาพในการตัดสินใจ การประสานความร่วมมือ และการจัดสรรทรัพยากรให้ดียิ่งขึ้นอีกด้วย”

 

 

 


ค้นหาศักยภาพของเทคโนโลยี GIS กับการประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมอื่นๆ เพิ่มเติม

 

อ่านเพิ่มเติม