16 ส.ค. สิงค์โปร์สร้างแผนท่าเรือขนาดใหญ่รับมือภาวะโลกร้อน
เป็นเรื่องน่าคิดว่าอนาคตของเกาะสิงคโปร์จะเป็นอย่างไรทั้งในแง่จุดยุทธศาสตร์สำคัญของโลก และความอยู่รอดของประชาชน เพราะท่าเรือสิงคโปร์ซึ่งตั้งอยู่อยู่ในมหาสมุทรอินเดียต่อกับแปซิฟิกคือชุมทางการขนส่งที่มีขนาดใหญ่และหนาแน่นที่สุดของโลก แต่พื้นที่บนเกาะกลับมีความสูงเหนือระดับน้ำทะเลเพียงไม่กี่เมตรเท่านั้น จึงเป็นเรื่องน่ากังวลอย่างมากหากได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อน
สมัยก่อนสิงค์โปร์ไม่สามารถวาดแผนที่ความลึกของมหาสมุทร รวมทั้งไม่สามารถทราบถึงปัญหาที่ประเทศต้องเผชิญเพราะข้อจำกัดทางเทคโนโลยี แต่เมื่อปี 2019 การท่าเรือสิงคโปร์ หรือ Maritime and Port Authority (MPA) ได้นำข้อมูลเชิงพื้นที่ด้านโครงสร้างชายทะเลและน่านน้ำชายฝั่งของสิงคโปร์มาใช้ในชื่อว่า GeoSpace-Sea โดยมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มความชัดเจนในการเขียนแผนที่ตลอดชายแดนผ่านการใช้เทคโนโลยี GIS รวบรวมและแสดงเลเยอร์ต่าง ๆ ของข้อมูลการเดินเรือและข้อมูลทางทะเล ซึ่ง ดร. แพรี่ วี ที่ปรึกษาอุทกศาสตร์ของการท่าเรือสิงคโปร์ และแกนนำสำคัญผู้อยู่เบื้องหลังการจัดทำ GeoSpace-Sea ได้กล่าวว่า “ทะเลคือโลกที่ยังไม่ได้รับการสำรวจมากพอ และมันเป็นเรื่องน่าเหลือเชื่อหากคุณได้รู้ว่าทุกอย่างสัมพันธ์กันได้อย่างไร”
สำหรับนักวิทยาศาสตร์แล้ว GeoSpace-Sea คือหนทางที่ทำให้เข้าใจว่ามหาสมุทรทั่วโลกกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างไร และส่งผลกระทบต่อสิงคโปร์อย่างไร ในขณะที่นักวางแผนเห็นว่า GeoSpace-Sea คือวิธีคาดการณ์การเปลี่ยนแปลงและใช้ในการวิเคราะห์ล่วงหน้าถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับสิงคโปร์ ส่วนพนักงานท่าเรืออาจเห็นว่าการมีข้อมูลที่ละเอียดย่อมช่วยเรื่องการจัดการต่าง ๆ และช่วยให้เห็นผลกระทบที่ตามมาจากการตัดสินใจต่าง ๆ เช่น ผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตจากการขุดลอกทะเล
เพราะทุกสิ่งสัมพันธ์กัน
ดร. วีย้อนกลับไปถึงที่มาของเทคโนโลยี GeoSpace-Sea ในปลายยุค 1980s ตอนที่ทำงานในโครงการ Asia-Australia Project ที่เมือง Hobart ประเทศออสเตรเลีย ซึ่งเป็นความร่วมมือเพื่อทำความเข้าใจสัญญาณการเปลี่ยนแปลงของสภาวะโลกร้อนที่กำลังเกิดขึ้น ในช่วงนั้นเองที่ ดร. วี เริ่มสนใจที่จะวาดแผนที่อันซับซ้อนในมหาสมุทร เพราะปัญหาโลกร้อนมีผลกระทบต่อมหาสมุทร และในทางกลับกันมหาสมุทรก็ส่งกระทบต่อสภาวะโลกร้อนด้วยเช่นกัน
คำถามจึงเกิดขึ้นว่าเราจะรวบรวมข้อมูลได้อย่างไร และเราจะใช้มันทำอะไร ในช่วงเวลานั้นเทคโนโลยี GIS ยังถือว่าอยู่ในขอบเขตจำกัดและใช้อยู่ในเฉพาะกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้าน GIS เท่านั้น รัฐบาลของสิงคโปร์จึงไม่กระตือรือร้นมากนักที่จะนำเทคโนโลยีนี้มาใช้ตามการร้องขอของนักอุทกศาสตร์ ดร. วีกล่าวเสริมว่า “นักอุทกศาสตร์เปรียบดั่งพระรอง และเมื่อรายชื่อทีมงานขึ้นในตอนท้ายของภาพยนตร์ ชื่อของพวกเราจะผ่านจอไปเร็วมากจนคุณอาจมองแทบไม่ทันเสียด้วยซ้ำ”
โครงการเริ่มเป็นรูปเป็นร่าง
หลายปีต่อมา เมื่อเทคโนโลยี GIS พัฒนาไปอยู่บนคลาวด์ ซึ่งใช้ง่ายพอที่จะทำงานข้ามสาขากันได้ และเชี่ยวชาญมากพอที่จะจะรวมข้อมูลเชิงพื้นที่ได้หลายขนาดและไร้ขีดจำกัด ในช่วงกลางยุค 2000’s เมื่อปัญหาโลกร้อนเริ่มกลายเป็นความกังวลเร่งด่วน และระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นเริ่มเป็นภัยคุกคามที่มีอยู่จริง รัฐบาลสิงคโปร์จึงเริ่มสนใจนำไอเดียของ ดร. วีมาใช้
ดร. วีกล่าวว่า “เราพยายามต่อสู้มาอย่างยาวนานเพื่อให้ได้ใช้เทคโนโลยี GIS ในการปกป้องท้องทะเล และเรียนรู้ธรรมชาติใต้ท้องทะเล ซึ่งในที่สุดปัญหาโลกร้อนทำให้เราได้รับความสนใจเสียที” สิงคโปร์ไม่ได้เผชิญปัญหาโลกร้อนแค่ในเรื่องระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นเท่านั้น แต่ยังมีเรื่องพายุกระหน่ำที่จะเพิ่มขึ้น ส่งผลให้เกิดพายุซัดฝั่งและน้ำท่วม การใช้ GeoSpace-Sea ผสานความรู้ด้านภูมิสารสนเทศเชิงพื้นที่ทางทะเลจะช่วยทำให้เราเข้าใจสภาพอากาศสุดขั้วได้ดียิ่งขึ้น อย่างเช่น เมื่อก่อนมีความเชื่อว่าน้ำที่ไหลผ่านช่องแคบสิงคโปร์เกิดจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงเหนือในช่วงฤดูหนาวและต้นฤดูใบไม้ผลิ เมื่อน้ำที่กักความร้อนในมหาสมุทรอินเดียสัมผัสอากาศเย็นจากภูเขาหิมาลัย แต่ปัจจุบันนี้นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าจริง ๆ แล้วน่าจะเกิดจากอิทธิพลของลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ในช่วงฤดูร้อนเมื่อลมพัดความชื้นจากมหาสมุทรไปภูเขาหิมาลัย เป็นต้น
ดร. วี กล่าวเพิ่มเติมว่า “ถ้าถามว่าจะกำจัดน้ำท่วมอย่างไร และจะป้องกันน้ำทะเลเข้ามาได้อย่างไร ผมคงตอบไม่ได้ง่าย ๆ แต่ผมเชื่อว่าเราจำเป็นต้องมอนิเตอร์ทุกเรื่องของสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นแพทเทิร์นของสภาพอากาศ อุณหภูมิ ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น เพราะทั้งหมดนี้ล้วนเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาโลกร้อน”
อนาคตของ GeoSpace-Sea
เมื่อ GeoSpace-Sea ใช้งานแพร่หลายมากขึ้น ดร. วี ก็หวังที่จะเพิ่มข้อมูลด้านอากาศเข้าไปด้วยเพื่อให้เห็นภาพองค์รวมที่ชัดเจนยิ่งขึ้น ทั้งนี้ การท่าเรือของสิงคโปร์ได้วางแผนที่จะเปิดเผยข้อมูลเลเยอร์บางส่วนของ GeoSpace-Sea ให้สาธารณะได้ทราบเมื่อมาตรการความปลอดภัยทางไซเบอร์มีความพร้อมมากพอ อย่างไรก็ดี ในปัจจุบัน GeoSpace-Sea ได้นำมาใช้เพื่อให้นักวิจัยใช้ศึกษาเอกสารทางประวัติศาสตร์เพื่อทำนายอนาคตเป็นหลัก ซึ่งชุดข้อมูลบางชุดสามารถย้อนกลับไปได้มากถึง 20 ปี และข้อมูลใหม่ก็จะถูกเพิ่มเข้าไปเมื่อพร้อมใช้งาน
ในขั้นตอนต่อไป คือ การเพิ่มการใช้เซนเซอร์และ IoT เพื่อให้ได้ข้อมูลอัพเดทเกือบเรียลไทม์ ดร. วี กล่าวว่า “เราแทบจะทำอะไรมากไม่ได้หากมีแค่แบบจำลอง แต่ถ้าเรานำเซนเซอร์สมัยใหม่มาใช้จะกลายเป็น Digital Twin ได้เลยทีเดียว และทำให้เราปรับตัวแบบเชิงรุกได้มากขึ้น” แม้มหาสมุทรจะเต็มไปด้วยความซับซ้อนมากมายเพียงใด แต่ด้วยความสามารถของ GeoSpace-Sea ที่พัฒนาขึ้น ทำให้นักวิทยาศาสตร์สามารถรวบรวมความรู้เพื่อทำความเข้าใจความซับซ้อนได้ดียิ่งขึ้น
ก้าวต่อไปของ GeoSpace-Sea คือการเปิดตัว AI ในการใช้ Machine learning protocol เพื่อค้นหาแพทเทิร์นและ Hotspot ต่าง ๆ เช่น การเกิดน้ำทะเลเปลี่ยนสีจากการเจริญเติบโตของสาหร่ายจนสร้างความเสียหายต่อระบบนิเวศชายฝั่งทะเล ดร. วีมีความเห็นว่า “สิ่งที่ทำให้ AI น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง เพราะว่ามันสามารถเปิดเผยสิ่งที่เราไม่เคยรู้ แต่เราก็ไม่สามารถเดาได้เลยว่ามันจะเผยเรื่องอะไร”
เป้าหมายสูงสุดของ GeoSpace-Sea คือการเพิ่มความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ผ่านการรวบรวมข้อมูลให้มากที่สุดเพื่อตั้งคำถามที่เราอาจจะยังไม่เคยคาดคิด อย่างไรก็ดี การทำความเข้าใจสิ่งที่ซับซ้อนอย่างความสัมพันธ์ระหว่างมหาสมุทรและประเทศสิงคโปร์จะเปลี่ยนไปอย่างไรนั้น จำเป็นต้องมีเทคโนโลยีที่มีความล้ำหน้าไปพร้อมกับความร่วมมือที่แน่วแน่ “คนเดียวเราไปได้เร็ว แต่ร่วมมือกันเราไปได้ไกล” ดร. วี กล่าวทิ้งท้าย
ค้นหาศักยภาพของเทคโนโลยี GIS กับการประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมอื่นๆ เพิ่มเติม