05 มี.ค. เทคโนโลยี GIS เสริมระบบ Automation ภายในอาคาร ช่วยเพิ่มศักยภาพอุตสาหกรรมการผลิต
Posted at 11:16h
in Blog
อุตสาหกรรมการผลิตมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น แม้จะต้องเผชิญกับปัญหาขนส่งระหว่างประเทศ ปัญหาด้าน Supply chain ปัญหาการขาดแคลนแรงงานภายในประเทศ และปัญหาเงินเฟ้อ ปัญหาเหล่านี้ทำให้บริษัทที่ต้องการเพิ่มการผลิตภายในประเทศต่างมุ่งค้นหาวิธีประหยัดต้นทุนให้มากยิ่งขึ้น และนั่นก็คือการนำเทคโนโลยีด้าน Location intelligence สำหรับภายในอาคารมาใช้ในธุรกิจ เพราะมีเครื่องมือสำคัญ คือ แผนที่อัจฉริยะที่สามารถแสดงผลพร้อมวิเคราะห์การดำเนินงาน ทำให้ผู้บริหารสามารถตัดสินใจได้ว่าจุดไหนที่ควรปรับปรุงเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต
จัดการการทำงานแบบอัตโนมัติผ่านแผนที่อัจฉริยะ
หลายปีที่ผ่านมาเหล่าซัพพลายเออร์ ผู้ผลิต ผู้จัดจำหน่าย และผู้ให้บริการด้านโลจิสติกส์ต่างหันมาลงทุนในเทคโนโลยีด้านระบบ Automation รวมทั้งโปรแกรมที่ใช้ AI เซนเซอร์ IoT และหุ่นยนต์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานภายในโรงงานและคลังสินค้า อย่างไรก็ดี การนำเทคโนโลยีและระบบ Automation ใหม่ๆ เข้ามาใช้ย่อมทำให้การทำงานยุ่งยากขึ้น เพราะระบบยิ่งอัจฉริยะมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งต้องมีอุปกรณ์มากขึ้นเท่านั้น แต่บุคลากรที่สามารถติดตามอุปกรณ์เหล่านั้นกลับมีไม่มากพอ ด้วยเหตุนี้หัวหน้าฝ่ายวางแผนงานจึงจำเป็นต้องเพิ่มการดูแลกระบวนการผลิตทั้งหมดให้ทำงานได้อย่างราบรื่น ด้วยการหมั่นบำรุงรักษาก่อนที่เกิดความเสียหาย ตรวจสอบระบบก่อนทำงานผิดพลาด และมองหาโอกาสที่จะพัฒนากระบวนการผลิตให้ดียิ่งขึ้น
เทคโนโลยีดังกล่าวนับว่ามีประโยชน์กับผู้บริหารในระดับต่างๆ เช่น ผู้บริหารระดับสูงสามารถใช้แผนที่อัจฉริยะ และ Dashboard เพื่อติดตามกิจการโดยรวม ในขณะที่ผู้จัดการฝ่ายปฏิบัติการอาจใช้เพื่อติดตามกิจกรรมภายในโรงงานและคลังสินค้า โดยแผนที่ดิจิทัลที่ใช้เทคโนโลยี GIS จะแสดงให้เห็นตำแหน่งและสถานะของทรัพย์สินภายในอาคาร ผู้ใช้งานจึงสามารถเข้าดูข้อมูลเกี่ยวกับชั่วโมงการใช้งาน และประวัติการซ่อมบำรุงของทรัพย์สินแต่ละชิ้น
แผนที่อัจฉริยะยังเชื่อมต่อเข้ากับระบบการจัดการบริการ (Service management system) จึงช่วยให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการเริ่มงานต่าง ๆ ได้รวดเร็วยิ่งขึ้น และลดเวลาที่ใช้ในการซ่อมบำรุง นอกจากนั้น ผู้ผลิตและผู้ให้บริการด้านโลจิสติกส์ยังสามารถใช้เทคโนโลยี GIS ร่วมกับการรายงานผลผ่าน Dashboard เพื่อรับทราบข้อมูลต่าง ๆ เช่น อุปกรณ์ใดที่ต้องการซ่อมบำรุงมากที่สุด หรือส่วนไหนของคลังที่มีการเข้าออกมากที่สุด แผนที่ดิจิทัลนี้ยังสามารถซิงค์กับเซนเซอร์ กล้อง และอุปกรณ์ IoT อื่น ๆ เพื่อสร้าง Digital twin ของอาคารในแบบเรียลไทม์ได้อีกด้วย
เชื่อมข้อมูลต่าง ๆ เพื่อค้นพบข้อมูลที่ลึกยิ่งขึ้น
แม้ผู้จัดการฝ่ายผลิตและฝ่ายโลจิสติกส์จะสนใจในเรื่องการมองเห็นภาพการปฏิบัติงานเป็นหลัก แต่ศักยภาพของซอฟต์แวร์ GIS มีดียิ่งกว่านั้น เพราะซอฟต์แวร์นี้สามารถวิเคราะห์ข้อมูลให้ผู้บริหารทราบได้ว่าอะไรกำลังเกิดขึ้นที่ไหน พร้อมชี้จุดพื้นที่ที่ควรปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้น
ตัวอย่างเช่น ภายในโรงงานผลิตหรือศูนย์กระจายสินค้าที่มีเครื่องมือต่าง ๆ เช่น กล้องที่ใช้ AI ในการตรวจสอบสินค้าระหว่างการประกอบหรือคัดแยก หุ่นยนต์ที่ใช้เคลื่อนย้ายสินค้าเข้าพาเลท และเซนเซอร์ที่ชั่งน้ำหนักของแต่ละพาเลท การใช้ซอฟต์แวร์ GIS ทำให้สามารถติดตามกล้องในแต่ละครั้งที่พบสินค้าที่มีความบกพร่อง หรือแจ้งให้ทราบว่าหุ่นยนต์เคลื่อนย้ายสินค้ากี่รอบภายในหนึ่งชั่วโมง หรือมีกี่ครั้งที่พาเลทมีน้ำหนักเต็มกล่อง เป็นต้น จากนั้นข้อมูลเหล่านี้จะถูกถอดกลายเป็นข้อมูลเชิงลึกที่สัมพันธ์กับระยะทาง หรือแพทเทิร์นการเคลื่อนที่
ถึงแม้ข้อมูลแต่ละอย่างที่ไหลเข้ามาจะนำไปปรับใช้ในการทำงานได้ทันที ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการปฏิบัติตามขั้นตอนการประกันคุณภาพ หรือการตรวจสอบความจุของคลังสินค้า แต่การนำข้อมูลทั้งหมดมารวมกันบนแผนที่ GIS ย่อมทำให้เห็นเรื่องราวของการผลิตและกระบวนการที่ใหญ่ยิ่งกว่า จึงช่วยให้ผู้มีอำนาจตัดสินใจเข้าใจและคาดเดาได้ว่าหากปรับเปลี่ยนอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น ย้ายสายพานให้เข้าใกล้ช่องเก็บสินค้ามากขึ้น จะส่งผลต่อการทำงานทั้งหมดให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นได้หรือไม่
Location Intelligence ภายในอาคาร
ก่อนหน้านี้บริษัทต่าง ๆ รวมทั้งบริษัทโลจิสติกส์ได้นำเทคโนโลยีแผนที่อัจฉริยะและ Location intelligence ไปใช้ในเรื่องต่าง ๆ ภายนอกอาคาร เช่น การจัดเส้นทางส่งสินค้าถึงผู้บริโภคที่รวดเร็วขึ้น หรือ การเปิดคลังสินค้าใหม่ในพื้นที่ที่มีประชากรเพิ่มขึ้น
แต่ปัจจุบันบริษัทในหลากหลายอุตสาหกรรมต่างให้ความสนใจนำเทคโนโลยีด้าน Location intelligence มาใช้เพื่อเปลี่ยนพื้นที่ภายในอาคารให้ฉลาดยิ่งขึ้น เพราะแผนที่อัจฉริยะสามารถทำให้เห็นบางแพทเทิร์นที่สเปรดชีตเดิม ๆ อาจทำไม่ได้ เช่น มีการเก็บชิ้นส่วนที่ใช้งานประจำในที่ที่ไกลเกินไป หรือมีจุดหนึ่งในพื้นที่รับสินค้าเข้าโกดังที่มักเกิดอุบัติเหตุบ่อย เป็นต้น
นอกจากนั้น การป้อนข้อมูลเชิงลึกต่าง ๆ ตั้งแต่หาวัตถุดิบจนกระทั่งจัดส่งสินค้ายิ่งทำให้ระบบ Automation เก่งมากขึ้น ส่งผลให้การทำงานภายในอาคารมีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมทั้งแผนที่ที่แสดงให้เห็นการทำงานของหลากหลายเทคโนโลยีที่เชื่อมเข้าด้วยกันจนกลายเป็นระบบอัจฉริยะก็ทำให้ผู้บริหารเข้าใจและใช้งาน Automation ได้ดียิ่งขึ้น และนำไปใช้ในการทำงานภายในอาคารให้เกิดประโยชน์ได้เต็มที่
ค้นหาศักยภาพของเทคโนโลยี GIS กับการประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมอื่นๆ เพิ่มเติม