ยกระดับห่วงโซ่อุปทานให้มีประสิทธิภาพและยั่งยืนด้วย Location Intelligence

 

ปัจจุบันผู้บริโภคเลือกซื้อสินค้าจากธุรกิจที่ใส่ใจความยั่งยืนมากขึ้น บริษัทผู้ผลิตและผู้ค้าชั้นนำทั่วโลกจึงตอบรับความต้องการด้วยวิธีการหาแหล่งวัตถุดิบใหม่ที่เรียกว่า “Sustainable sourcing” ซึ่งเป็นการหาแหล่งวัตถุดิบที่ยั่งยืนโดยใช้เทคโนโลยี Location intelligence เพื่อผลิตสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

วิธีการหาแหล่งวัตถุดิบที่ยั่งยืนในแต่ละอุตสาหกรรมมีรูปแบบที่แตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นการเกษตรกรรม การป่าไม้ การทำเหมืองแร่ ไปจนกระทั่งการสิ่งทอ เช่น ร้านขายของชำอาจเลือกซื้อผักผลไม้จากเกษตรกรท้องถิ่น ร้านขายเฟอร์นิเจอร์อาจเลือกร่วมงานกับผู้ผลิตไม้ที่มุ่งอนุรักษ์ระบบนิเวศ หรือผู้ผลิตอัญมณีอาจคอยเฝ้าสังเกตของเสียที่เกิดจากการทำเหมืองแร่ เป็นต้น

แต่ในความแตกต่างก็มีสิ่งที่เหมือนกัน คือ บริษัทที่มุ่งพัฒนาความยั่งยืนเหล่านี้ต้องการเห็นภาพเครือข่ายซัพพลายเออร์ของตน (ฟาร์มเกษตร ป่าไม้ และโรงงาน) ว่ามีแนวทางการปฏิบัติด้านความยั่งยืนอย่างไร เช่น การปล่อยก๊าซและการควบคุมคุณภาพของดิน และเครื่องมือที่ทำให้พวกเขาเห็นภาพข้อมูลเชิงลึกได้ชัดเจนนั่นก็คือ Location intelligence ที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี GIS ซึ่งทำหน้าที่รวบรวมข้อมูล วิเคราะห์ และแสดงผลข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับสถานที่บนแผนที่ Smart map ซึ่งปัจจุบันบริษัทที่ใส่ใจด้านความยั่งยืน หรือได้รับการสนับสนุนจากองค์กรที่มีความเชี่ยวชาญด้านความยั่งยืนต่างนำเทคโนโลยี GIS มาใช้ทั้งในแง่ของข้อมูล การวิเคราะห์ และการรายงานผล

 

ข้อมูลด้านโลเคชันช่วยหาแหล่งวัตถุดิบที่ยั่งยืน

แม้ว่าแผนที่ทั่วไปจะสามารถบันทึกโลเคชันของซัพพลายเออร์หลัก ๆ ไว้ได้ แต่แผนที่ Smart map สามารถเพิ่มข้อมูลอื่น ๆ เช่น ชั้นเลเยอร์ของข้อมูลที่มีบริบทเพิ่มเติมด้านสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่จากการกระทำของมนุษย์ เป็นต้น

ชั้นข้อมูลในการหาแหล่งวัตถุดิบที่ยั่งยืนมักประกอบด้วย ภาพถ่ายจากดาวเทียมที่มอนิเตอร์การตัดป่า ข้อมูลเซนเซอร์วัดการใช้น้ำหรือปุ๋ยในแต่ละเอเคอร์ และสถิติแสดงค่าจ้างเฉลี่ยของคนงาน เป็นต้น ข้อมูลทั้งหมดนี้ทำให้แผนที่ Smart map สามารถบอกบริษัทได้ทันทีว่าซัพพลายเออร์ปฏิบัติตามมาตรฐานเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนหรือไม่

ในการสร้างแผนที่ Smart map จำเป็นต้องได้ข้อมูลที่ถูกต้อง ซึ่งเทคโนโลยี GIS สามารถให้ข้อมูลที่น่าเชื่อถือต่าง ๆ เช่น รูปภาพ และข้อมูลประชากร ในขณะเดียวกันผู้ผลิตและผู้ค้าก็สามารถร่วมมือกับซัพพลายเออร์เพื่อรวบรวมข้อมูลเพิ่มเติมโดยใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ เช่น โมบายแอป โดรน หรือเซนเซอร์อัจฉริยะ เป็นต้น ซึ่งการฟีดข้อมูลต่าง ๆ เข้าไปในฐานข้อมูลส่วนกลางของ GIS และ Dashboard ช่วยทำให้การรายงานผลผิดพลาดน้อยลง ทั้งยังลดความล่าช้าที่เกิดจากการแชร์ข้อมูลผ่านระบบ Manual และทำให้ผู้ใช้เห็นภาพรวมของแหล่งวัตถุดิบที่ครอบคลุมและใหม่ล่าสุดเสมอ

 

Turning Information into Action

หากองค์กรต้องการความมั่นใจว่าแหล่งวัตถุดิบที่หามาได้จะมีให้ใช้ได้อย่างยาวนานหรือไม่ การมองเพียงภาพระยะสั้นอาจไม่เพียงพอ เพราะความยั่งยืนจำเป็นต้องใช้การคาดการณ์อนาคตเพื่อให้มั่นใจว่าซัพพลายเออร์จะสามารถปฏิบัติตามแนวทางความยั่งยืนได้จริง ไม่ใช่แค่เพียงวันนี้แต่ต้องสามารถดำเนินตามแนวทางนี้ไปได้ในระยะยาว

ในเทคโนโลยี GIS มีฟีเจอร์ Predictive spatial ที่ใช้ในการคาดการณ์อนาคตเพื่อเผยให้เห็นข้อมูลเชิงลึก เช่น ซัพพลายเออร์รายนี้อาจประสบปัญหาหากราคาน้ำมันสูงขึ้นเพราะพึ่งพาการใช้พลังงานเชื้อเพลิง เป็นต้น นอกจากนั้น การสร้างโมเดลก็ช่วยให้ซัพพลายเออร์พบคำตอบว่าตนสามารถเปลี่ยนเป็นพลังงานสะอาดได้หรือไม่โดยดูจากแหล่งพลังงานที่มีอยู่ในพื้นที่ และการเปลี่ยนนี้จะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนได้มากขึ้นหรือไม่ การรับรู้ข้อมูลเชิงลึกดังกล่าวทำให้ผู้ผลิตและผู้ค้ารู้ก้าวต่อไปของตนที่แม่นยำและมีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น อาจเกิดการหาพันธมิตรใหม่ ปรับแผนกลยุทธ์ด้านผลิตภัณฑ์ หรือลงทุนในอุปกรณ์ใหม่ เป็นต้น

นอกจากนั้น เทคโนโลยี GIS ยังสามารถนำข้อมูลภายนอกขององค์กรมาผสมผสานในการวิเคราะห์ได้อีกด้วย เช่น การคาดการณ์สภาพอากาศเพื่อทดสอบว่าซัพพลายเออร์สามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ได้ดีเพียงใด เช่น ไฟป่าที่รุนแรง การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศที่ส่งผลต่อการปลูกพืช หรือระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น การรับรู้ล่วงหน้าย่อมช่วยให้ซัพพลายเออร์เตรียมรับมือกับภัยอันตรายที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ทั้งยังทำให้ผู้ผลิตและผู้ค้าสามารถป้องกันปัญหาที่อาจเกิดกับห่วงโซ่อุปทานของตนด้วยการเลือกใช้ซัพพลายเออร์ที่มีแผนพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลง

ท้ายที่สุดแล้ว Sustainable sourcing หรือการหาแหล่งวัตถุดิบที่ยั่งยืน คือการเพิ่มความสัมพันธ์ที่แข็งแกร่งระหว่างพันธมิตร ทั้งผู้ค้า ผู้ผลิต และซัพพลายเออร์ ให้พร้อมรับมือกับปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างกะทันหันและความท้าทายในระยะยาว การนำเทคโนโลยี GIS มาใช้ช่วยสร้างพื้นที่ทางดิจิทัลที่ช่วยให้พันธมิตรทุกฝ่ายสามารถแชร์และมอนิเตอร์ข้อมูล ช่วยในการตัดสินใจด้านการลงทุน และช่วยให้เกิดความร่วมมือกันสรรค์สร้างธุรกิจที่ดีทั้งในแง่ผลกำไร สังคม และโลก

 

 


ค้นหาศักยภาพของเทคโนโลยี GIS กับการประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมอื่นๆ เพิ่มเติม

 

อ่านเพิ่มเติม