29 Sep เทคโนโลยี GIS ช่วยเปลี่ยนการปล่อยก๊าซที่มองไม่เห็นให้เห็นได้
เพราะข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมีความโปร่งใสมากขึ้น ทำให้ทุกวันนี้ไม่ว่าใครก็สามารถทราบปริมาณคาร์บอนฟุตพริ้นท์ในแต่ละกิจกรรม สินค้า และพื้นที่อย่างง่ายดายเพียงแค่ค้นหาในอินเตอร์เน็ต อย่างเช่น ผู้ซื้อมือถือเครื่องใหม่สามารถทราบได้ทันทีว่าการใช้มือถือในปีแรกต้องปล่อยก๊าซมากถึง 85 กิโลกรัม ซึ่งล้วนมาจากกระบวนการการผลิตตั้งแต่วัสดุที่ใช้ผลิตจากแร่ธาตุที่ขุดจากใต้ดินไปจนกระทั่งการขนส่ง หรือฝ่าย HR ขององค์กรหนึ่งเมื่อดู Online carbon emissions calculators ทำให้ทราบว่าการบินจากซานฟรานซิสโกไปนิวยอร์คในแต่ละครั้งมีการปล่อยก๊าซมากถึง 1.5 เมตริกตัน จึงเลือกปรับแผนไฟลท์บินของผู้บริหารเป็นสองอาทิตย์ต่อครั้ง เป็นต้น
คาร์บอนไดออกไซด์และก๊าซเรือนกระจกต่าง ๆ ล้วนเป็นตัวเร่งปรากฏการโลกร้อนและส่งผลอย่างยิ่งต่อธุรกิจและชีวิตประจำวันของทุกคน การเปิดเผยข้อมูลคาร์บอนต่อสาธารณะที่เพิ่มขึ้นจึงมีความสำคัญมาก และหนึ่งในข้อมูลนั้นมาจากแอปพลิเคชันใหม่ที่ใช้เทคโนโลยี GIS สร้างภาพคาร์บอนไดออกไซด์ ก๊าซซึ่งไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าให้มองเห็นได้โดยเห็นตำแหน่งและช่วงเวลาที่เกิดก๊าซนั้น ๆ และด้วยเทคโนโลยีนี้เองทำให้ข้อมูลคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กรต่าง ๆ ถูกเปิดเผยต่อสาธารณะมากขึ้น และหากองค์กรใดไม่เปิดเผยข้อมูลการปล่อยก๊าซที่มากเกินไปก็อาจทำให้ต้นทุนทางธุรกิจเพิ่มขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
Seeing the Unseen
Seeing the Unseen เป็นแอปพลิเคชันที่พัฒนาร่วมกันระหว่างทีมนักวิทยาศาสตร์ข้อมูลเชิงพื้นที่และนักพัฒนาแอปพลิเคชัน และเป็นส่วนหนึ่งของ a climate-focused hackathon เป็นการใช้เทคโนโลยี GIS ในการสร้าง Dashboard แสดงค่าความเข้มข้นของคาร์บอนทั่วทุกภูมิภาคจากข้อมูลขององค์การนาซา
วิดีโอสาธิตการทำงานของแอปพลิเคชันที่แสดงค่าความเข้มข้นของคาร์บอนที่เกิดขึ้นในเมือง Barnsley ประเทศอังกฤษ ซึ่งผู้พัฒนาแอปยังชี้แนะว่าทุกเทศบาลสามารถนำเทคโนโลยีนี้ไปใช้เพื่อมอนิเตอร์ระดับคาร์บอนไดออกไซด์ในเขตของตนได้เช่นกัน
การใช้ Location analysis ช่วยให้ผู้ใช้งานขยายดูย่านใดอย่างหนึ่ง หรือระบบทางหลวงเพื่อดูคาร์บอนฟุตพริ้นท์ในแต่ละพื้นที่ได้ละเอียดขึ้น รวมทั้งการลากสไลเดอร์บนแผนที่ก็ทำให้เห็นภาพ Before และ After ของการเพิ่มขึ้นหรือลดลงของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการนำภูมิศาสตร์มาผสมผสานเข้ากับ Data science หากผู้ที่อาศัยอยู่ใกล้เขตอุตสาหกรรม หรือคนทำงานในองค์กรที่มีหลายอาคารได้นำแผนที่อัจฉริยะนี้ไปใช้ก็จะสามารถวัดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนของแต่ละตรอกซอกซอยรอบที่ทำงานได้
ทั้งนี้ การใช้ข้อมูลแผนที่เชิงลึก หรือ Location intelligence ที่มองเห็นเทรนด์และแพทเทิร์นของพื้นที่ต่าง ๆ ย่อมช่วยให้ผู้นำชุมชนตัดสินใจได้ดียิ่งขึ้น เพราะเมื่อได้เห็นการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในรูปแบบทางภูมิศาสตร์แล้ว ผู้นำชุมชนอาจออกมาตรการควบคุมการพัฒนาที่ดินบางพื้นที่ หรือเปลี่ยนกฎการใช้ที่ดินเพื่อเอื้อต่อการลดก๊าซคาร์บอน หรือเดินหน้าสู่เป้าหมายคาร์บอนเป็นศูนย์ได้สำเร็จ
เมื่อข้อมูลคาร์บอนถูกเปิดเผยต่อสาธารณะ
แอปพลิเคชัน Seeing the Unseen มีประโยชน์ต่อธุรกิจต่าง ๆ เช่น ช่วยให้ทราบถึงคุณภาพของอากาศในคลังสินค้า หรือบริเวณอาคารที่อาจกลายเป็นออฟฟิศใหม่ อย่างไรก็ดีการเข้าถึงเทคโนโลยีการวิเคราะห์เชิงพื้นที่ได้ง่ายขึ้นอาจกลายเป็นความเสี่ยงขององค์กรที่เพิกเฉยต่อการมอนิเตอร์ก๊าซเรือนกระจกของตน เพราะแม้ว่าธุรกิจนั้นจะยอมเปิดเผยข้อมูลด้วยความสมัครใจหรือไม่ (ซึ่งจาก ข้อมูลการวิจัย ระบุว่ามีน้อยกว่า 1 ใน 3 ของบริษัทมหาชนที่ยอมเผยข้อมูล) ข้อมูลเหล่านี้ก็อาจถูกเปิดเผยต่อสาธารณะผ่าน Remote sensing อยู่ดี หากประวัติการปล่อยก๊าซขององค์กรไม่ค่อยดีย่อมส่งผลกระทบต่อชื่อเสียง หนำซ้ำอาจโดนตรวจสอบเพิ่มขึ้นด้วย
อีกหนึ่งศาสตร์ใหม่ที่ได้รับความสนใจมากขึ้นมีชื่อว่า Spatial finance เพราะในปัจจุบันนี้ผู้ให้กู้นิยมนำมาตรวัดด้านความยั่งยืนเข้ามาใช้ประกอบการพิจารณาตัดสินใจลงทุนด้วย และด้วยการนำเทคโนโลยีต่าง ๆ ทั้ง GIS, Satellite imagery และ Artificial intelligence มาผสมผสานกันทำให้ธนาคารสามารถรับรู้ข้อมูลการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ขององค์กรได้ดีกว่าผู้บริหารระดับสูงขององค์กรนั้นเสียอีก หากองค์กรใดเพิกเฉยต่อการมอนิเตอร์หรือบรรเทาการปล่อยก๊าซซึ่งระบุไว้ในกฎ เช่น การใช้พลังงานสะอาด ก็อาจกลายเป็นความเสี่ยงในการลงทุน
เห็นได้ว่าเทคโนโลยี GIS ช่วยสร้างความโปร่งใสให้ข้อมูลมากขึ้น ดังนั้นองค์กรที่ชาญฉลาดย่อมนำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ให้กับองค์กร เปลี่ยนจุดอ่อนที่อาจโดนโจมตีให้กลายเป็นชัยชนะจากความเสี่ยงต่าง ๆ ทางธุรกิจได้
ค้นหาศักยภาพของเทคโนโลยี GIS กับการประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมอื่นๆ เพิ่มเติม