ภูมิศาสตร์ตัวแปรสำคัญสร้างโอกาสเติบโตให้ธุรกิจ

 

“ธุรกิจและภูมิศาสตร์” ความสัมพันธ์ที่มากกว่าที่คิด

ในช่วงเริ่มต้นของอินเทอร์เน็ตในยุค 1990 มีการคาดการณ์เกี่ยวกับแนวคิด “The death of distance” และ “The end of geography” หลายคนทำนายว่าการเกิดขึ้นของเครื่องมือดิจิทัลอย่าง อีเมล และ อีคอมเมิร์ซ จะทำให้ “โลเคชัน” แทบไร้ความหมาย แต่ความจริงกลับตรงกันข้าม กว่าสามทศวรรษผ่านไปได้พิสูจน์ให้เห็นแล้ว “ธุรกิจและภูมิศาสตร์” ได้เชื่อมกันอย่างแนบแน่นอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

ปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI เป็นเทคโนโลยีที่ถูกพูดถึงมากที่สุดเพราะการทำงานเลียนแบบสมองมนุษย์และมีอัลกอริทึมที่ซับซ้อนเป็นอิสระเหนือกฎเกณฑ์ของโลกแห่งความจริง อย่างไรก็ตาม นวัตกรรม AI จำเป็นต้องใช้พลังงานไฟฟ้าจำนวนมหาศาลจาก Data center ที่มีสถานที่ตั้งตายตัว และมีการคาดการณ์ว่า AI จำเป็นต้องใช้พลังงานไฟฟ้ามากยิ่งขึ้นถึงหนึ่งในสามของความต้องการใช้ไฟฟ้าใหม่ทั้งหมดในสหรัฐอเมริกาในอีกสองปีข้างหน้า ปัญหาดังกล่าวทำให้บริษัท Amazon, Microsoft และ Google ต้องพยายามหาจุดสมดุลระหว่างการสร้าง Data center กับความเสี่ยงเฉพาะของพื้นที่ เช่น น้ำท่วมและคลื่นความร้อน รวมถึงต้องคำนึงถึงเป้าหมาย Net zero ขององค์กรอีกด้วย นี่เป็นเพียงหนึ่งในความท้าทายทางธุรกิจในปัจจุบันที่อาจแก้ไขไม่ได้ถ้าปราศจาก แผนที่ และ ข้อมูลเชิงพื้นที่ที่ได้จากเทคโนโลยีระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS)

 

“ภูมิศาสตร์และธุรกิจ” เพื่อกลยุทธ์และการดำเนินงาน

“แนวคิดทางภูมิศาสตร์” ช่วยให้นักบริหารประเมินตลาดและวิเคราะห์การดำเนินงานโดยพิจารณาจากปัจจัยต่าง ๆ ตั้งแต่ห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ความเสี่ยงด้านความปลอดภัย และข้อมูลอื่นๆ เช่น “Operational basemap” ช่วยให้บริษัทค้าไม้พัฒนาโครงการการป่าไม้ที่ยั่งยืนเพื่อรักษาป่าไม้ให้แข็งแรงในระยะยาว และทำให้เกิดกลยุทธ์การค้าปลีกแบบ Omnichannel ที่สร้างการเติบโตทั้งออนไลน์และในร้านค้า ส่วน “บริบททางภูมิศาสตร์” ก็สามารถช่วยให้ผู้นำธุรกิจตัดสินใจได้ดียิ่งขึ้น ทั้ง “Smart map” ก็ชี้ให้เห็นแนวโน้มของผู้บริโภคซึ่งส่งผลต่อการเลือกสถานที่ตั้งร้านค้าใหม่ หรือชี้ให้เห็นความเสี่ยงของโรงงานในภูมิภาคที่ขาดแคลนน้ำได้

แม้แนวโน้มธุรกิจอาจเปลี่ยนไป อุตสาหกรรมอาจผันผวน แต่ตราบใดที่มนุษย์ ธรรมชาติ และธุรกิจ ยังคงผูกพันกันบนพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งบนโลก “ภูมิศาสตร์” จะยังคงเป็นตัวแปรสำคัญที่ส่งผลต่อทุกการตัดสินใจ

 

ภูมิรัฐศาสตร์ นโยบายการคลังและการเงิน และกฎเกณฑ์ต่าง ๆ

ทราบหรือไม่ว่าสถานที่ตั้งของบริษัทนับว่ามีความเสี่ยงในด้านภาษีสรรพสามิต ภาษีอื่น ๆ และกฎเกณฑ์ทางการเงินต่าง ๆ เช่น ในเรื่องภาษีคาร์บอนนำเข้าของสหภาพยุโรป บริษัทสามารถนำ Operational basemap มาใช้เพื่อระบุห่วงโซ่อุปทานที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งช่วยให้ผู้มีอำนาจตัดสินใจระบุสินทรัพย์ที่ใช้พลังงานไม่มีประสิทธิภาพ หรือระบุสถานที่ที่ควรติดตั้งระบบลดคาร์บอนเพื่อจำกัดค่าใช้จ่ายต่อไป

การประเมินความเสี่ยงดังกล่าวเกี่ยวข้องกับกรอบการตัดสินใจที่เรียกว่า “OODA Loop” อันประกอบด้วย การสังเกต (Observe) ปรับทิศทาง (Orient) ตัดสินใจ (Decide) และลงมือทำ (Act) ซึ่ง Jamie Dimon ผู้ดำรงตำแหน่ง CEO ของบริษัท JPMorgan Chase ได้กล่าวถึงในจดหมายถึงผู้ถือหุ้นเมื่อไม่นานมานี้ ไม่ว่าจะทำการตัดสินใจเกี่ยวกับการค้าโลกและนโยบายการคลังใด ๆ ขั้นตอนแรกที่สำคัญคือการประเมินความเสี่ยง ซึ่งการประเมินนั้นต้องเข้าใจสถานที่ตั้งด้วย เช่น หากธนาคารต้องการให้เงินทุนแก่บริษัทเกษตรกรรมแห่งหนึ่ง สามารถเทคโนโลยี GIS ทำการวิเคราะห์ภาพถ่ายดาวเทียม เพื่อประเมินว่าบริษัทนั้นทำเกษตรกรรมสอดคล้องกับกฎหมายความหลากหลายทางชีวภาพหรือไม่

ในโลกปัจจุบันที่ภูมิรัฐศาสตร์มีการเปลี่ยนแปลง ทั้งในเรื่องการค้าขายระหว่างประเทศ และกฎหมายเกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศ เทคโนโลยี GIS ถือเป็นเครื่องมือที่จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับผู้บริหารยุคใหม่ เพื่อใช้ติดตามการปรับเปลี่ยนนโยบายต่าง ๆ พร้อมปรับธุรกิจให้เท่าทันสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป

 

การเติบโตทางธุรกิจ การวิเคราะห์ตลาด และการออกแบบห่วงโซ่อุปทาน

ธุรกิจที่มุ่งขยายกิจการมักพบความเสี่ยงจากการประเมินความสำคัญของภูมิศาสตร์ต่ำเกินไป มีตัวอย่างมากมายของร้านค้าปลีกในสหรัฐอเมริกาที่ไม่สบความสำเร็จในการขยายธุรกิจ เพราะมองข้ามรายละเอียดปลีกย่อยของทำเลที่ตั้ง

หนึ่งในนั้นคือ ร้านค้าปลีกชื่อดังของสหรัฐฯ ที่ขยายสาขามากกว่า 5,000 สาขาในช่วงกลางทศวรรษที่ผ่านมา จนกลายเป็นสถานที่คุ้นตาของคนในหลาย ๆ เมืองใหญ่ เยอะขนาดที่ CEO ของบริษัทฯ เคยนับร้านค้าได้ถึง 8 สาขาแค่ในระยะ 5 ไมล์จากบ้านของเขา แต่นั่นไม่ใช่ข้อดีนัก เพราะทำเลส่วนใหญ่มีร้านค้าตั้งใกล้กันเกินไป ทำให้เกิดการแย่งลูกค้ากันเอง

การประเมินความเสี่ยงอย่างถูกวิธีจะทำให้เห็นแนวโน้มทางภูมิศาสตร์และนำไปสู่ความสำเร็จของธุรกิจในที่สุด ตัวอย่างหนึ่งคือ ที่ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านโลเคชันของบริษัทที่ปรึกษาชั้นนำระดับโลกแห่งหนึ่งเลือกใช้แผนที่ GIS เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลประชากรและการแบ่งเขต ทำให้สามารถแนะนำบริษัทอีคอมเมิร์ซได้ว่าควรเปิดร้านค้าใหม่ในย่านการค้าใดที่น่าสนใจที่สุด และถนนใดที่ดีที่สุด

เทคโนโลยี GIS ถูกนำมาใช้มากขึ้นเพื่อช่วยร้านค้าชั้นนำทำการวิเคราะห์ทางภูมิศาสตร์และประชากรศาสตร์ เพื่อเลือกทำเลที่ตั้งสาขา และออกแบบห่วงโซ่อุปทานให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

ยิ่งไปกว่านั้น ความต้องการนักวิเคราะห์ที่เข้าใจภูมิศาสตร์ของโลจิสติกส์และเส้นทางการขนส่งก็เพิ่มสูงขึ้นอย่างมากด้วยเช่นกัน จนบริษัทต่างๆ ได้ทำความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเพื่อแข่งขันคัดคนที่ใช้เครื่องมือ GIS เก่ง ๆ เข้าร่วมงาน

 

โลกเปลี่ยนไป เราจะรับมือและลดผลกระทบได้อย่างไร

รายงาน Global Risks Report ประจำปีของ The World Economic Forum เผยถึงความเสี่ยงระยะยาว 4 อันดับแรกที่ระบุโดยผู้เชี่ยวชาญภาคธุรกิจ ภาคการศึกษา และภาคอื่นๆ ซึ่งล้วนเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นสภาพอากาศสุดขั้ว การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ และการพังทลายของระบบนิเวศ ทั้งความเสี่ยงเหล่านี้ได้ส่งผลกระทบแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่

ในการแก้ปัญหาดังกล่าวจำเป็นต้องทำ 2 อย่างควบคู่กัน คือ การลดผลกระทบ และการเตรียมพร้อมรับมือ ซึ่งหัวใจสำคัญของการแก้ปัญหานี้คือ การพิจารณาปัจจัยต่าง ๆ ผ่านมุมมองทางภูมิศาสตร์ ทั้งปัจจัยที่ควบคุมได้ เช่น การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน และปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้ เช่น การเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล และผลกระทบจากน้ำท่วมที่คาดการณ์ไว้

บางบริษัทใช้เทคโนโลยีด้านโลเคชันเพื่อสร้างความพร้อมในการรับมือ โดยประเมินความเสี่ยงของสภาพอากาศที่อาจกระทบในบางพื้นที่ ในขณะที่อีกหลายบริษัททำการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนของตน โดยประเมินการทำงานของพื้นที่นั้น ๆ เช่น ร้านค้าปลีกสัญชาติสวิสแห่งหนึ่งใช้เทคโนโลยี GIS สร้างแผนที่แสดงความเร็วและความชันของถนน เพื่อวางกลยุทธ์การกระจายสินค้าที่ใช้พลังงานมีประสิทธิภาพที่สุด เป็นต้น

 

เข้าถึงทรัพยากรธรรมชาติและทรัพยากรมนุษย์

ที่ตั้งของธุรกิจในพื้นที่ต่างกันย่อมส่งผลต่อการเข้าถึงทรัพยากรที่ต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นทรัพยากรธรรมชาติ เช่น ไม้ แร่ และน้ำ และทรัพยากรมนุษย์ที่เชี่ยวชาญงานที่บริษัทต้องการ แต่ด้วยเทคโนโลยี GIS ทำให้บริษัทมีข้อมูลเชิงลึกในแบบเรียลไทม์มากเพียงพอที่จะช่วยในการตัดสินใจได้อย่างมีประสิทธิภาพ

เทคโนโลยี GIS ช่วยให้ผู้บริหารสามารถใช้ Smart map เพื่อค้นหาตำแหน่งของแหล่งแร่ที่อาจจะขุดได้ ป่าไม้ที่สามารถตัดได้ หรือพื้นที่ที่มีศักยภาพเป็นพื้นที่อนุรักษ์ นอกจากนั้น ยังสามารถระบุถนนที่เครื่องจักรหนักสามารถเข้าไปในพื้นที่ รวมถึงพื้นที่อนุรักษ์ใกล้เคียง ไปจนกระทั่งแหล่งแรงงานที่พร้อมทำงานได้

อีกหนึ่งปัญหาสำคัญในปัจจุบันคือการขาดแคลนน้ำ เมื่อก่อนหลายบริษัทคิดว่าน้ำเป็นทรัพยากรที่หาได้ง่าย แต่เดี๋ยวนี้น้ำกลายเป็นปัญหาสำคัญในการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะบริษัทที่มีโรงงานที่ต้องใช้น้ำจำนวนมหาศาลทุกวันอย่างบริษัทผลิตชิป เพื่อการเติบโตในระยะยาวการเลือกตั้งโรงงานจึงควรหลีกเลี่ยงพื้นที่ที่ขาดแคลนน้ำ และการใช้ Smart map ย่อมช่วยให้บริษัทมองเห็นพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ที่มีความเสี่ยงจากภัยแล้งน้อยที่สุดได้

นอกจากนั้น เทคโนโลยี GIS ยังช่วยในการวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับกำลังคน เช่น ผู้บริหารฝ่าย HR สามารถสร้างแผนที่แสดงข้อมูลเงินเดือนในแต่ละพื้นที่ เพื่อวางแผนการจ้างงานให้เหมาะสมกับพื้นที่นั้น ๆ เป็นต้น

 

เชื่อมความสัมพันธ์ของชุมชนและลูกค้า

การทำธุรกิจโดยคำนึงถึงสามด้าน นั่นคือ กำไร สังคม และสิ่งแวดล้อม ได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ ในอดีตธุรกิจต่างมุ่งเน้นสร้างกำไรให้ผู้ถือหุ้นเป็นหลัก แต่ปัจจุบันผู้บริหารเริ่มตระหนักถึงความสำคัญของความสัมพันธ์ระหว่างผลิตภัณฑ์และบริการ ลูกค้า และชุมชนมากขึ้น ซึ่งความเข้าใจเหล่านี้ล้วนเกี่ยวข้องกับภูมิศาสตร์ทั้งสิ้น

ภูมิศาสตร์ถือเป็นปัจจัยสำคัญเมื่อบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ระดับโลกแห่งหนึ่งต้องการสนับสนุนองค์กรไม่แสวงผลกำไรที่ช่วยเหลือชาวอเมริกันผิวดำเพื่อส่งเสริมความเท่าเทียม หัวหน้าโครงการจึงใช้เทคโนโลยีด้านโลเคชันวิเคราะห์ข้อมูลด้านที่อยู่อาศัย การศึกษา และความยากจน เพื่อระบุพื้นที่ที่มีความเหลื่อมล้ำทางเชื้อชาติอย่างชัดเจน จากนั้นจึงร่วมมือกับองค์กรไม่แสวงผลกำไรในพื้นที่ทำการมอบเงินทุนและเครื่องมือดิจิทัลต่าง ๆ และทำการติดตามตัวชี้วัดความเท่าเทียมในชุมชนเพื่อประเมินผลโครงการต่อไป

ปัจจุบัน เราได้เห็นความใส่ใจของบริษัทต่าง ๆ ในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติมากขึ้น เช่น ร้านค้าปลีกขนาดใหญ่ได้ใช้ Operational basemap ในการกระจายเครื่องมือและอุปกรณ์ช่วยเหลือต่าง ๆ ทั้งหน้ากากอนามัยและกระสอบทรายจากโกดังสินค้าไปยังชุมชนที่ต้องการ และช่วยหน่วยงานภาครัฐจัดตั้งจุดแจกจ่ายน้ำและอาหารในลานจอดรถของบริษัท เป็นต้น

Jerry Johnston กรรมการผู้จัดการของบริษัท Deloitte & Touche กล่าวว่า ข้อมูลเกี่ยวกับโลเคชันที่ใช้ในการวางแผนและดำเนินงานต่าง ๆ ของบริษัทมีปริมาณมากขึ้นเรื่อย ๆ ในขณะที่ต้นทุนกลับลดลง นั่นหมายความว่า ตราบใดที่บริษัทยังต้องการรู้ว่าสิ่งต่าง ๆ อยู่ที่ไหน ไม่ว่าจะเป็นลูกค้า คู่แข่ง ทรัพยากร ไปจนกระทั่งความเสี่ยง บริบททางภูมิศาสตร์จะมีความสำคัญและมีมูลค่าเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ด้วยเช่นกัน

 

 


ค้นหาศักยภาพของเทคโนโลยี GIS กับการประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมอื่นๆ เพิ่มเติม

 

อ่านเพิ่มเติม