แผนที่ยุคใหม่…ไม่ใช่แค่เข็มทิศแต่คือโซลูชันอัจฉริยะแห่งอนาคต

 

เมื่อพูดถึงแผนที่ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่มีมากว่า 4,000 ปี มีความจริงอยู่ 2 สิ่งที่ต่างกันอย่างสิ้นเชิง นั่นคือ ไม่มีอะไรเปลี่ยนไป และทุกอย่างเปลี่ยนไป สิ่งที่ไม่เปลี่ยนเลยนั่นคือ แผนที่ยังคงเป็นภาษา มันสามารถเปลี่ยนข้อมูลจำนวนมากให้กลายเป็นเรื่องเล่าในทันที ซึ่งข้อมูลเดียวกันนั้นอาจเข้าใจไม่ได้เลยเมื่ออยู่ในรูปแบบสเปรดชีต ส่วนทุกอย่างที่เปลี่ยนไปนั่นก็คือ ศักยภาพของแผนที่ ทั้งในแง่ของข้อมูลที่นำเสนอ ไปจนกระทั่งการตั้งคำถามและการตอบคำถาม เปรียบดั่งหนังสือและแล็ปท็อปที่มีน้ำหนักเท่าเดิม แต่แล็ปท็อปยุคใหม่สามารถเก็บข้อมูลได้มากเท่าหนังสือ 300,000 เล่ม นี่คือศักยภาพของแผนที่ที่เปลี่ยนไปในยุคดิจิทัล

แม้ว่าแผนที่ดิจิทัลจะมีรูปลักษณ์และการทำงานไม่ต่างจากแผนที่แบบเดิม คือสามารถแสดงภาพภูมิศาสตร์ เช่น ทางหลวง ป่าไม้ และแนวชายฝั่ง แต่สิ่งที่เพิ่มขึ้นคือคุณสามารถเห็นข้อมูลแยกเป็นชั้น ๆ เช่น ข้อมูลของพื้นที่ที่คนจบปริญญาตรีอาศัยอยู่ รหัสไปรษณีย์ที่มีผู้บริโภคที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมอยู่หนาแน่น และชนิดของพืชและพื้นที่ที่เกษตรกรทำการเพาะปลูก เป็นต้น ทั้งแผนที่ดิจิทัลยังเปรียบเสมือนหน้าต่างที่ให้คุณสามารถซูมเข้าและซูมออก เพิ่มหรือลบชั้นของข้อมูล เพื่อสร้างภาพที่มีความละเอียดมากขึ้น หรือเจาะเฉพาะข้อมูลบางประเภทได้ และยังสามารถสื่อสารข้อมูลที่ซับซ้อน เผยให้เห็นแพทเทิร์นบางอย่าง ช่วยทำให้ผู้คนเข้าใจข้อมูลได้ง่ายขึ้น

และที่สำคัญที่สุด คือแผนที่ยุคใหม่มีข้อมูลแบบเรียลไทม์ที่มีการอัปเดตอยู่เสมอ แผนที่ไม่ใช่แค่นำเสนอข้อมูลในรูปแบบภาพกราฟิกเท่านั้น แต่เป็นเครื่องมือที่ใช้วิเคราะห์และสร้างภาพเพื่อแก้ปัญหาในเรื่องต่าง ๆ ดังตัวอย่างข้างล่างนี้

การขนส่งและโลจิสติกส์ – บริษัทชั้นนำระดับโลกด้านการจัดส่งพัสดุและการจัดการห่วงโซ่อุปทานสามารถอัปเดตเส้นทางการขนส่งที่มีประสิทธิภาพที่สุดทั่วสหรัฐฯ ในทุก ๆ 10 นาที ทำให้บริษัทประหยัดค่าน้ำมันและแรงงานได้มากถึง 1 ล้านเหรียญสหรัฐต่อวัน ทั้งยังทำให้ลูกค้ามีความสุขมากขึ้น และลดปัญหาการจราจรและมลพิษได้

การวิเคราะห์การตลาดและการเลือกทำเลที่ตั้ง – หนึ่งในร้านอาหารบริการเร่งด่วนที่เติบโตอย่างรวดเร็วรายหนึ่งในสหรัฐฯ สามารถมองเห็นข้อมูลยอดขายและปริมาณการจราจรรายเดือนเพื่อทำการวิเคราะห์ว่าร้านอาหารไหนมีโอกาสเติบโตมากขึ้นหากเพิ่มช่องไดร์ฟทรูเพิ่มอีกหนึ่งช่อง

ด้านความปลอดภัยสาธารณะ – ทั่วโลกสามารถเห็นข้อมูลการติดเชื้อโควิด-19 แบบชั่วโมงต่อชั่วโมง พร้อมค้นหาแพทเทิร์นการแพร่เชื้อที่สำคัญในระดับประเทศ ระดับรัฐ ระดับเมือง หรือแม้กระทั่งระดับโรงพยาบาล การเห็นภาพชัดเจนในแบบเรียลไทม์นี้เองที่ทำให้สามารถรักษาชีวิตคนไว้ได้จำนวนมาก

แผนที่ไม่ได้ถูกจำกัดอยู่แค่ศักยภาพทางภูมิศาสตร์กายภาพเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมถึงภูมิศาสตร์สังคม และภูมิศาสตร์เศรษฐกิจอีกด้วย

ความสามารถของแผนที่ดิจิทัลยุคใหม่เกิดขึ้นจากเครื่องมือในการสร้างแผนที่และจัดการข้อมูลอันทรงพลังที่เรียกว่า ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (Geographic information systems : GIS) ซึ่งเป็นระบบที่ถูกคิดค้นโดยนักภูมิศาสตร์ชาวอังกฤษที่มีชื่อว่า Roger Tomlinson โดย GIS จะทำหน้าที่ย่อยข้อมูลที่มีความซับซ้อนให้ผู้ใช้สามารถเข้าใจและวิเคราะห์ได้ง่าย โดยทำการจัดระเบียบข้อมูลตามพื้นที่พร้อมทำการจัดแยกชั้นข้อมูล ซึ่งซอฟต์แวร์ GIS ยุคใหม่สามารถทำงานกับข้อมูลจำนวนมหาศาลและหลากหลายประเภทได้อย่างเหลือเชื่อ

ที่ Esri งานของเรามุ่งช่วยภาคธุรกิจและภาครัฐทั่วโลกในการดึงศักยภาพของแผนที่มาใช้เพื่ออธิบายโลกใบนี้ได้ดียิ่งขึ้น และองค์กรต่าง ๆ ก็เห็นความสำคัญของการใช้แผนที่ GIS ด้วยความสามารถในการแสดงข้อมูลให้เห็นเป็นภาพที่เข้าใจง่ายๆ ทำให้ทีมงานเกิดความเข้าใจในทิศทางเดียวกันได้อย่างง่ายดาย การที่แผนที่เป็นภาษาทางภูมิศาสตร์และเป็นศาสตร์ที่รวบรวมทุกสิ่งที่เรารู้จักเกี่ยวกับโลก เมื่อเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ก้าวหน้า ทั้งระบบคลาวด์และการเก็บข้อมูลลงในฐานข้อมูลมีความทันสมัยมากขึ้น จึงทำให้การทำแผนที่เติบโตไปอีกขั้น ปัจจุบันนี้ข้อมูลชุดเดียวสามารถสร้างแผนที่ได้หลายแบบ หรือแม้กระทั่งแผนที่อันเดียวก็สามารถดึงข้อมูลได้จากหลายแหล่งข้อมูลอีกด้วย นอกจากนั้น การอัปเดตข้อมูลบนแผนที่ก็ไม่ใช่เรื่องยาก และคุณยังสามารถเปรียบเทียบข้อมูลระหว่างเดือนมิถุนายนและพฤษภาคม หรือเทียบระหว่างมิถุนายนปีที่แล้วกับมิถุนายนปีนี้ ซึ่งทำได้ภายในพริบตา อีกทั้งแผนที่ที่สร้างด้วยเทคโนโลยี GIS ยังถูกพัฒนาอย่างรวดเร็วให้มีความสามารถในการดึงข้อมูลจากแหล่งข้อมูลใดก็ได้

ปัจจุบันแผนที่ GIS สามารถนำเสนอข้อมูลได้หลากหลายประเภท ตั้งแต่ข้อมูลยอดขาย ข้อมูลลูกค้า ข้อมูลสำมโนประชากร ข้อมูล GPS แบบเรียลไทม์ ข้อมูลสภาพอากาศแบบ Real-Time ข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียม ไปจนกระทั่งข้อมูลภาพถ่ายและตำแหน่งจากโดรน นี่คือความก้าวหน้าครั้งยิ่งใหญ่ที่สุด เราสามารถใส่ปัญหาลงบนแผนที่แล้วให้แผนที่แก้ปัญหาให้เรา แม้บางครั้งปัญหานั้นมีความซับซ้อนสูงมาก ตัวอย่างเช่น เมืองบริสเบน ประเทศออสเตรเลีย ต้องการขยายระบบรถไฟใต้ดินเพื่อรองรับการแข่งขันโอลิกปิกในปี 2032 จึงใช้ระบบแผนที่ 3 มิติที่สามารถโต้ตอบและแชร์ข้อมูลร่วมกัน เพื่อให้โครงการเสร็จตามกำหนดการ ทั้งยังคอยจุดประกายไอเดียใหม่ ๆ ให้กับนักออกแบบอยู่เสมอ หรือบางปัญหาเป็นเรื่องเร่งด่วนที่เราต้องหาทางแก้ไขใหม่ ๆ เช่น แผนที่ที่แสดงภัยพิบัติทางธรรมชาติและการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศแบบ Real-Time ช่วยให้เจ้าหน้าที่กู้ภัยสามารถแจ้งเตือนปัญหา และแจ้งตำแหน่งที่ต้องการให้เจ้าหน้าที่กู้ภัยเข้าช่วยเหลือได้ตรงจุด บางครั้งปัญหาเหล่านั้นอาจเป็นเรื่องที่ท้าทายและซับซ้อน เช่น ในการวางผังเมือง ทีมงานทุกคนสามารถทำงานผ่าน Template เดียวกันบนแผนที่อัจฉริยะ พร้อมทำการออกแบบภาพในอนาคตโดยใช้เครื่องมือต่าง ๆ เพื่อสร้างอาคาร สวนสาธารณะ ถนน และพื้นที่คุ้มครอง การมีแผนที่ที่เปิดพื้นที่ให้แชร์ข้อมูลซึ่งกันและกันย่อมเปิดโอกาสให้เกิดการพูดคุย และนำไปสู่ความเข้าใจและหาทางออกร่วมกันได้ดียิ่งขึ้น

แผนที่ในยุคสมัยนี้เปรียบเสมือนโลกยุคใหม่ที่มาพร้อมความสามารถในการแก้ปัญหาเชิงพื้นที่ ทั้งแผนที่ยังช่วยให้ทุกคนมีส่วนร่วมในรูปแบบที่ไม่เคยมีมาก่อน ไม่ว่าปัญหาคือเรื่องเพิ่มประสิทธิภาพห่วงโซ่อุปทาน เรื่องการบริหารจัดการสินทรัพย์และเครือข่าย หรืออนุรักษ์และติดตามสิ่งแวดล้อม ด้วยความสามารถในการเก็บข้อมูลทั้งหมดลงในฐานข้อมูล และด้วยความพร้อมของซอฟต์แวร์ในการสร้างแผนที่ตลอดเวลา จึงทำให้ผู้ใช้งานไม่ว่าจะเป็น ภาครัฐ ภาคธุรกิจ นักธุรกิจ หรือนักวิทยาศาสตร์ข้อมูล สามารถตั้งคำถามได้ทันที หรือหาแนวคิดใหม่ ๆ แล้วถ่ายทอดออกมาเป็นแผนที่ได้ในเวลาไม่ถึงนาที

ในยุคดิจิทัลนี้ อาจกล่าวได้ว่าแผนที่คือเครื่องมือสื่อสารด้านภาพที่มีพลังมากที่สุด โดยเฉพาะแผนที่แบบ Interactive ซึ่งช่วยทำให้ผู้ใช้งานเข้าใจเรื่องที่มีความซับซ้อนได้ง่ายขึ้น และด้วยความเข้าใจที่มากขึ้นนี้เองที่นำไปสู่การลงมือแก้ปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นภาคธุรกิจและภาครัฐสามารถสร้างแผนที่ได้ตามที่จินตนาการ และเมื่อสร้างแผนที่แล้วก็สามารถต่อยอดพัฒนาได้อีก แผนที่จึงไม่ใช่เป็นศาสตร์ด้านพื้นที่เท่านั้นแต่มันคือศาสตร์แห่งความเป็นไปได้ อาจกล่าวได้ว่าแผนที่มีค่ามากกว่าหลายพันคำ เพราะภาพเหล่านั้นทำให้เราสามารถทำเรื่องที่ยิ่งใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นปกป้องสิ่งแวดล้อม มุ่งสู่ความยั่งยืน ไปจนกระทั่งสร้างสันติสุข

ท้ายที่สุดนี้ แผนที่ดิจิทัลถือเป็นหน้าต่างสู่อนาคต มันคือวิธีในการจินตนาการถึงอนาคต และเป็นเครื่องมือให้เราทุกคนได้มีส่วนร่วมในการออกแบบและสร้างให้เกิดขึ้นจริง

 

ที่มา:  https://www.forbes.com/sites/esri/2024/06/12/people-can-do-way-more-than-not-get-lost-how-high-tech-maps-are-unlocking-smarter-solutions/

 

 


ค้นหาศักยภาพของเทคโนโลยี GIS กับการประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมอื่นๆ เพิ่มเติม

 

อ่านเพิ่มเติม