13 Dec การใช้ Iot ขับเคลื่อนเมืองอัจฉริยะ
ภาครัฐได้นำเทคโนโลยี IoT มาใช้ประโยชน์เพื่อพัฒนาเมืองและประเทศในทุกแง่มุม ตั้งแต่การจราจร การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ไปจนกระทั่งความปลอดภัยของสาธารณะ ซึ่งคุณค่าหลักของ IoT สำหรับภาครัฐ ประกอบด้วย:
- การตระหนักรู้การปฏิบัติการแบบเรียลไทม์ (Real-time operational awareness)
- การตอบโต้ที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
- เพิ่มประสิทธิภาพการบริการของภาครัฐ
ต่อไปนี้คือตัวอย่างของ 3 เมืองที่ใช้ Real-time awareness ซึ่งได้รับข้อมูลจากเครือข่าย IoT sensor มาช่วยในการตัดสินใจและพัฒนาผลลัพธ์ต่าง ๆ ภายในเมืองให้ดียิ่งขึ้น ประกอบด้วย เมืองบอสตัน ลอสแอนเจลิส และเวลลิงตัน ประเทศนิวซีแลนด์
การนำ IoT data ไปใช้ร่วมกับข้อมูลด้านโลเคชันทำให้เกิดคุณค่ามากขึ้นในทุกกิจกรรม ไม่ว่าจะเป็นการแจ้งเหตุฉุกเฉิน การมีส่วนร่วมของพลเมือง หรือการปฏิบัติงานของเทศบาล และเมื่อนำ IoT data มาผสานร่วมกับการวิเคราะห์ Real-time location analytics จะทำให้สามารถกรองข้อมูลเลือกเฉพาะเรื่องที่สำคัญที่สุด และเห็นปัญหาได้ชัดเจน ก่อนนำข้อมูลไปประกอบการตัดสินใจต่อไป ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์เร่งด่วนหรือการวางแผนในระยะยาว
In the Event of Emergency
เมื่อครั้งเกิดเหตุโศกนาฏกรรมที่บอสตันมาราธอนในปี ค.ศ. 2013 ในปีนั้นเมืองบอสตันยังไม่มีข้อมูลเชื่อมถึงกันได้แบบเรียลไทม์ทำให้ผู้ปฏิบัติการฉุกเฉินที่อยู่ทั่วทั้งเมืองไม่สามารถร่วมมือกันได้อย่างเต็มที่ ทั้งการไม่มีแพลตฟอร์มออนไลน์ทำให้ไม่สามารถรายงานเหตุการณ์ล่าสุดหรือคำสั่งล่าสุดให้กับผู้ปฏิบัติการฉุกเฉินกว่าพันคน รวมทั้งผู้แข่งขัน อาสาสมัคร และผู้ชมให้รับรู้ได้
เดสิรี โคซีส์ ผู้ประสานงาน Geographic Information System (GIS) จาก Massachusetts Emergency Management Agency (MEMA) กล่าวว่า “การวางระเบิดที่บอสตันมาราธอนในปี ค.ศ. 2013 แสดงให้เห็นว่าเราจำเป็นต้องมีข้อมูลออนไลน์ ไม่ใช่แค่บนกระดาษ”
ในปี ค.ศ. 2014 บอสตันมาราธอนกลับมาอีกครั้งพร้อมกับแผนที่ทางเว็บไซต์ผสานเทคโนโลยี IoT โดยทำการถ่ายทอดสดพร้อมแสดงรายละเอียดต่าง ๆ เช่น เส้นทางการวิ่ง ตำแหน่งของศูนย์อำนวยความสะดวกทางการแพทย์ และจุดที่มีหน่วยรักษาความปลอดภัยประจำอยู่ การรวมกันของข้อมูลมากมายที่หลั่งไหลเข้ามาผ่านเซนเซอร์ อุปกรณ์ วิดีโอ และพื้นที่ต่าง ๆ ช่วยให้เจ้าหน้าที่ของเมืองมองเห็นการแข่งขันได้ชัดเจนมากขึ้น ทั้งยังสามารถติดตามตัวบุคคลและทรัพยากรต่าง ๆ ได้แบบเรียลไทม์ และเพิ่มความปลอดภัยในทรัพย์สินสาธารณะในพื้นที่ที่จำเป็น
แม้แต่เสื้อผ้าของนักวิ่งก็มีการติดตั้งเซนเซอร์คอยส่งข้อมูล โดยก่อนเริ่มแข่งนักวิ่งทุกคนจะได้รับ Bib ที่ติดตั้งไมโครชิพบันทึกข้อมูลของผู้แข่งขัน ชิพตัวนี้จะส่งข้อมูลเวลาและตำแหน่งของนักวิ่งแต่ละคนในทุก ๆ 5 กิโลเมตรในแบบเรียลไทม์ ทำให้เจ้าหน้าที่สามารถติดตามจำนวนนักวิ่งที่กำลังแข่งขัน และทราบถึงจำนวนคนที่อยู่ในแต่ละส่วนของสนาม เพื่อกระจายความปลอดภัยและอุปกรณ์ทางการแพทย์ไปตามตำแหน่งต่าง ๆ ได้
การรวม IoT data เข้าไว้ด้วยกัน นอกจากจะช่วยเจ้าหน้าที่ดูแลผู้ร่วมงานมาราธอนทุกคนที่กำลังเคลื่อนไหว มันยังทำหน้าที่เป็นฐานข้อมูลที่สามารถแชร์ได้อย่างรวดเร็วและง่ายดายระหว่างประชาชน หน่วยรักษาความปลอดภัย และทีมปฏิบัติการฉุกเฉิน ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างมากโดยเฉพาะในวันแข่งขันที่มีหน่วยงานหลากหลายกว่า 60 หน่วยงานมารวมตัวกัน เช่น หน่วยงานตำรวจท้องถิ่นและตำรวจของรัฐ ไปจนกระทั่งสำนักจัดการภาวะฉุกเฉินกลาง ทุกหน่วยงานสามารถเห็นภาพเดียวกันภายใต้เทคโนโลยี GIS เพื่อควบคุมงานมาราธอนที่มีผู้เข้าร่วมงานกว่าครึ่งล้านคน และได้รับความสนใจจากผู้คนทั่วโลก
Improving Disaster Response and Recovery
กรุงเวลลิงตัน เมืองหลวงของนิวซีแลนด์ให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาโดยตลอด โดยเฉพาะหลังเหตุการณ์แผ่นดินไหวต่อเนื่องระหว่างปี ค.ศ. 2010 ถึงปี ค.ศ.2016 เนื่องจากข้อจำกัดทางภูมิประเทศของเมืองที่ถูกขนาบด้วยท่าเรือทางธรรมชาติและเทือกเขาซึ่งฟอร์มตัวขึ้นจากแผ่นเปลือกโลกที่ยังมีพลัง เจ้าหน้าที่ของเมืองจึงจำเป็นต้องมองหาแนวทางการปฏิบัติการในระยะยาวเพื่อรับมือกับภัยพิบัติด้วยการนำเทคโนโลยี IoT มาใช้เพื่อทำความเข้าใจพฤติกรรมการใช้ชีวิตในเมืองของประชากร
โดยทำการติดตั้งเซนเซอร์ กล้องวิดีโอ และอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ทำงานร่วมกัน เพื่อมอนิเตอร์ความเป็นไปของเมืองตั้งแต่การใช้ที่จอดรถ ไปจนกระทั่งความสามารถในการทำความสะอาดกระจกแตกในสนามเด็กเล่นก่อนที่จะเป็นอันตรายต่อเด็ก ความสามารถเหล่านี้ถูกนำมาใช้ในเรื่องแผ่นดินไหวเพื่อตอบคำถามต่าง ๆ เช่น กลุ่มบุคคลที่เปราะบางจะปลอดภัยไหม คนภายในอาคารจะหนีไปที่ไหน อะไรจะเกิดขึ้นกับตึกที่ได้รับความเสียหายจากแผ่นดินไหว
นายฌอน ออเดน ดำรงตำแหน่ง City Council Innovation Officer มีความเห็นว่าการที่เมืองนำ IoT data มาใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างเต็มที่มีผลทั้งต่อประชาชนและนักการเมือง “เมื่อเราได้รับข้อมูล เราสามารถนำไปแสดงในรูปแบบสามมิติเพื่อเสนอสภาพแวดล้อมทั้งหมดแก่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมรับทราบถึงปัญหาที่แท้จริง”
กรุงเวลลิงตันเริ่มสร้างความผูกพันกับประชาชนผ่านกิจกรรม Open data hackathons โดยเชิญชวนประชาชนทั้งชาวนิวซีแลนด์และชาวออสเตรเลียเข้าใช้และค้นหาข้อมูลของภาครัฐที่ต้องการ การทำเช่นนี้จึงเปลี่ยนความคิดต่อบทบาทของเมืองจากเดิมที่เมืองควรจะร่วมมือกับผู้แทนฯ อย่างไร กลายเป็นผู้แทนและชุมชนจะร่วมมือกับรัฐบาลท้องถิ่นอย่างไร และสิ่งนี้ทำให้ประชนสนใจใน IoT data ระดับท้องถิ่นมากขึ้น ส่งผลให้เจ้าหน้าที่ของรัฐต้องเร่งจัดหาการลงทุนเพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชน
นอกจากนั้น เมืองยังมุ่งใช้ประโยชน์สูงสุดจาก Location intelligence และ IoT data โดยมีการทดลองใช้เทคโนโลยีเซนเซอร์แบบใหม่และการวิเคราะห์ระดับสูง ซึ่งเป็นการใช้เครือข่ายของข้อมูลอินพุตเพื่อรับรู้ปัญหาต่าง ๆ ล่วงหน้า เช่น ปัญหาคนจรจัด หรือปัญหาภัยคุกคามต่อสัตว์ป่า และเมืองยังได้นำการวิเคราะห์เชิงพื้นที่ไปใช้ในการจัดการปัญหารายวันต่าง ๆ เช่น ปัญหาการจราจรและที่จอดรถ และการจำลองสถานการณ์ในบางพื้นที่ เป็นต้น
กล่าวโดยสรุปเจ้าหน้าที่ของกรุงเวลลิงตันเชื่อมั่นว่าการแชร์ IoT data และเพิ่มความร่วมมือในชุมชนส่งผลให้ประชาชนเข้มแข็ง และเมืองพร้อมรับมือกับปัญหาและภัยพิบัติต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
Intelligent Integration
เมืองลอสแอนเจลิสเติบโตอย่างต่อเนื่องเสมอมา และเพื่อให้การเติบโตมีประสิทธิภาพหน่วยงานภาครัฐจึงนำเทคโนโลยีอัจฉริยะต่าง ๆ มาใช้ เช่น IoT sensor ซึ่งส่งผ่านจากเซนเซอร์และอุปกรณ์ทั่วทั้งเมือง ไม่ว่าจะเป็นจากรถตำรวจ รถเก็บขยะ สัญญาณไฟจราจร สนามบิน หรือแม้กระทั่งไฟส่องถนน
เพื่อให้ระบบรถบรรทุกขยะทั้งหมดของเมืองมีประสิทธิภาพมากขึ้นทั้งในแง่การติดตาม การวางแผนเส้นทาง และการบำรุงรักษา หน่วยงาน Los Angeles Solid Resources Collection Division (SRCD) จึงติดตั้งระบบการติดตามตำแหน่งยานพาหนะ (Automatic Vehicle Location) และระบบรายงานการตรวจสอบอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic inspection reporting) ที่รถบรรทุกขยะกว่า 700 คันเพื่อให้ได้ข้อมูล IoT input มาประมวลผล
นอกจากนั้น ที่ถังขยะของเมืองอีกหลายล้านถังมีการติดตั้งป้ายอิเล็กทรอนิกส์ หรือ RFID tag ไว้เพื่อช่วยให้เจ้าหน้าที่รู้สถานะของรถบรรทุกว่าทำการเก็บขยะครบถ้วนหรือไม่ เซนเซอร์เหล่านี้ยังแสดงข้อมูลการใช้รถด้วยเทคโนโลยี Vehicle telematic ที่สามารถบอกได้ตั้งแต่เครื่องยนต์มีการสึกหรอกี่เปอร์เซ็นต์ไปจนกระทั่งแขนไฮโดรลิกของรถขยะทำการยกขยะไปทั้งหมดกี่ครั้ง
ในปี ค.ศ. 2014 หน่วยงาน Los Angeles Department of Public Works Bureau of Street Lighting ทำการเปลี่ยนเซนเซอร์ไฟส่องถนนเป็นเซนเซอร์โหนดระยะไกล อุปกรณ์อัจฉริยะนี้ช่วยในการมอนิเตอร์หลอดไฟว่าขาดไหม กระแสไฟในหลอดรีจิสเตอร์ถูกต้องหรือไม่ หรือมีส่วนประกอบไหนแตกหักต้องการการซ่อมบำรุงบ้าง ยิ่งไปกว่านั้น เซนเซอร์โหนดแต่ละตัวยังถูกติดตั้งเข้ากับเครือข่ายมือถือและคลื่นวิทยุ GPS ดังนั้นแม้ว่าจะไม่สามารถใช้สายเชื่อมต่อกับเครือข่ายในเมืองได้ แต่ไฟอัจฉริยะก็ยังต่อกันติดโดยไม่จำเป็นต้องลงทุนทำโครงสร้างพื้นฐานเพิ่ม
นายแพทริค ครอส ดำรงตำแหน่ง Information Technology Manager for the Bureau of Street Lighting ได้ชี้ให้เห็นว่าแอปพลิเคชันอัจฉริยะของ IoT ไม่ได้มุ่งแค่เรื่องประสิทธิภาพทางต้นทุนเท่านั้น “การที่เทคโนโลยี Smart lighting ช่วยประหยัดพลังงานและยังช่วยลดค่าใช้จ่ายการซ่อมบำรุงเป็นสิ่งที่ดีมาก แต่การมอบบริการที่ดีขึ้นและความประทับใจของลูกค้าที่มากขึ้นก็เป็นสิ่งสำคัญไม่แพ้กัน เมื่อก่อนเราต้องรอให้ประชาชนแจ้งเข้ามาถึงทราบว่ามีไฟดับเกิดขึ้น แต่เดี๋ยวนี้เราคอยติดตามอยู่เสมอว่าไฟถนนจุดไหนและเมื่อไหร่ที่ควรได้รับการซ่อมบำรุง และเรายังให้ความมั่นใจให้กับประชาชนได้ว่าไฟทุกดวงจะทำงานเป็นปกติเสมอ โดยไม่ต้องกังวลว่าจะต้องโทรแจ้งอีกต่อไป”
ทั้งนี้ การรวมเครือข่ายทำให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายโยธาธิการได้ข้อมูล Real-time awareness ของตำแหน่งและสภาพของไฟ Smart light รวมทั้งได้ข้อมูลที่ต้องใช้ในการซ่อมบำรุง และข้อมูลจำเพาะของไฟแต่ละดวง ด้วยเทคโนโลยีนี้ช่วยประหยัดเวลาของพนักงานภาคสนามได้มากเพราะทราบอย่างแน่ชัดว่าต้องไปที่ไหน ต้องทำอะไร และใช้เครื่องมืออะไรเพื่อให้งานแล้วเสร็จ
การทำให้ไฟถนนทำงานเป็นปกติเสมอคือบริการที่จำเป็นของเมือง โดยเฉพาะในพื้นที่ธุรกิจและที่อยู่อาศัยที่คนเดินเท้าต้องการความปลอดภัย และด้วย Smart light ที่ให้ความมั่นใจได้ว่าจะมีไฟส่องสว่างในเมืองลอสแอนเจลิสเสมอ จึงกลายเป็นศักยภาพใหม่ของเมืองอัจฉริยะจากการผสานเทคโนโลยีด้าน IoT เข้ากับเทคโนโลยีด้านโลเคชัน
ค้นหาศักยภาพของเทคโนโลยี GIS กับการประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมอื่นๆ เพิ่มเติม