18 Sep เซนต์จอนส์ใช้ ArcGIS บริหารจัดการโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน
Posted at 09:55h
in Blog
กรมโยธาธิการของมณฑลเซนต์จอนส์ รัฐฟลอริดา ต้องการดูแลรักษาและปกป้องทรัพยากรโครงสร้างพื้นฐานภายในมณฑล แต่ด้วยจำนวนประชากรของมณฑลที่เพิ่มขึ้นกว่า 44 เปอร์เซ็นต์ในรอบระยะเวลา 10 ปี จึงจำเป็นต้องมีการพัฒนานวัตกรรมอย่างต่อเนื่องเพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายหรือเกินกว่าเป้าที่ต้องการ ซึ่งนวัตกรรมหลายอย่างต้องใช้ ArcGIS Enterprise เป็นระบบซอฟต์แวร์พื้นฐาน บทความนี้จะพาคุณไปร่วมค้นพบว่ากรมโยธาธิการใช้ประโยชน์จาก ArcGIS อย่างไรในการบริหารจัดการโครงสร้างพื้นฐานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และรักษาคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่ประชาชน
บริหารจัดการสินทรัพย์ขององค์กรด้วย ArcGIS Enterprise
มณฑลเซนต์จอนส์ ตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของรัฐฟลอริดา ล้อมรอบด้วยมหาสมุทรแอตแลนติกและแม่น้ำเซนต์จอนส์ จุดเด่นของมณฑลมีตั้งแต่ เมืองประวัติศาสตร์อย่างเซนต์ออกัสติน พื้นที่ชานเมือง ชายหาด และพื้นที่เกษตรกรรมที่กว้างขวาง ไปจนกระทั่งระบบโรงเรียนรัฐบาลที่มีคุณภาพ ประกอบกับประชากรในมณฑลมีประมาณ 306,000 คน เพิ่มขึ้นถึง 44% ในระหว่างปี 2010 ถึง 2020 ทั้งยังมีแนวโน้มเติบโตต่อไป เนื่องจากความหลากหลายของภูมิประเทศและการเพิ่มขึ้นของประชากรดังกล่าว ทำให้กรมโยธาธิการให้ความสำคัญในการหาแนวทางบริหารจัดการโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน (CIP) อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะจำเป็นต้องดูแลถนนมากกว่า 1,153 ไมล์ ทางเท้าอีก 611 ไมล์ และท่อระบายน้ำมากถึง 266.3 ไมล์ ด้วยประชากรที่เพิ่มขึ้นนี้ การพัฒนาและบำรุงรักษาสินทรัพย์จึงจำเป็นต้องใช้นวัตกรรมใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่อง ซึ่งหลาย ๆ อย่างล้วนเกี่ยวข้องกับการใช้ ArcGIS Enterprise
เปลี่ยนการบำรุงรักษาสินทรัพย์ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล
โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของมณฑลเซนต์จอนส์ (CIP) มุ่งเน้นการดูแลรักษาและพัฒนาสิ่งก่อสร้างและทรัพย์สินสาธารณะให้มีความพร้อมใช้งานและมีประสิทธิภาพ ครอบคลุมแผนปรับปรุงระบบระบายน้ำ สวนสาธารณะ สิ่งอำนวยความสะดวก และการขนส่ง โดยก่อนหน้านี้โครงการใช้แอปพลิเคชันรูปแบบเก่าในการติดตามรายละเอียดและความคืบหน้าของโครงการ พร้อมจัดทำรายงานแบบแมนวลในรูปแบบ PDF ส่งให้ทีมงานทุกเดือน แต่ระบบเก่านี้มีปัญหาเรื่องข้อมูลที่ไม่อัปเดตและไม่สามารถรู้ข้อมูลอ้างอิงเชิงพื้นที่ของโครงการต่าง ๆ กรมโยธาธิการจึงแก้ปัญหาด้วยการปรับปรุงกระบวนการทำงานเสียใหม่ โดยมุ่งเป้าสร้างโซลูชันที่ช่วยให้ผู้จัดการโครงการอัปเดตข้อมูลได้เอง และช่วยให้การสื่อสารระหว่างทีมงานเป็นไปอย่างราบรื่น ความท้าทายมี 2 ประการด้วยกัน นั่นคือ การสร้างวิธีการให้ผู้จัดการโครงการสามารถอัปเดตข้อมูลได้อย่างรวดเร็วและง่ายดายโดยไม่ต้องพึ่งพาเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญด้าน GIS มากนัก และการทำให้ข้อมูลพื้นฐานของโครงการสามารถอัปเดตได้ และเข้าถึงได้ง่ายโดยไม่จำเป็นต้องติดต่อผู้จัดการโครงการ
พาองค์กรก้าวสู่การวิเคราะห์เชิงพื้นที่
ทีมงานด้านไอทีและระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ของกรมโยธาธิการเห็นโอกาสในการนำข้อมูลเชิงพื้นที่มาใช้ให้เกิดประโยชน์ผ่านการสร้างแดชบอร์ดแบบ Interactive ที่แสดงผลข้อมูลได้ทันที และมีตัวชี้วัดสำคัญและสามารถเชื่อมโยงเข้ากับเครื่องมือติดตามโครงการอื่น ๆ ได้ ซึ่งทีมงานได้เลือกใช้โซลูชันของ ArcGIS เป็น พื้นฐานในการพัฒนาระบบเพื่อทำให้กระบวนการทำงานของโครงการมีประสิทธิภาพมากขึ้น พร้อมสร้างเว็บแอปพลิเคชันเพื่อให้เจ้าหน้าที่สามารถแก้ไขข้อมูลพื้นฐานของโครงการได้ ทั้งผู้จัดการโครงการยังสามารถแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานะของโครงการพร้อมแนบรูปภาพและไฟล์ และยังมีการสร้างแดชบอร์ดที่แสดงข้อมูลล่าสุดของโครงการเพื่อรายงานต่อผู้บริหารระดับสูง
ArcGIS ช่วยให้ทีมผู้บริหารสามารถใช้แดชบอร์ดเพื่อดูข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่ ข้อมูลพื้นฐาน และความคิดเห็นล่าสุดเกี่ยวกับความคืบหน้าของโครงการได้โดยไม่จำเป็นต้องคอยติดต่อสอบถามผ่านผู้จัดการโครงการ และผู้ที่ได้รับอนุญาตก็สามารถเข้าถึงข้อมูลที่อัปเดตได้ทันที แดชบอร์ดยังช่วยให้การแลกเปลี่ยนข้อมูลมีความโปร่งใสและมีประสิทธิภาพ ทั้งยังเป็นที่ต้องการของเจ้าหน้าที่เพื่อนำไปใช้งานเป็นประจำทุกวัน นอกจากนั้น ทีมงานยังได้พัฒนารายงานเชิงวิเคราะห์เพื่อให้ข้อมูลเชิงลึกเพิ่มเติมในการติดตามและประเมินผลโครงการอีกด้วย
อย่างไรก็ดี อีกหนึ่งปัญหาของกรมโยธาธิการ คือ การมีแอปพลิเคชันกระจายอยู่แต่ละแผนกเยอะเกินไปทำให้ยากที่จะจัดการด้วยวิธีเดิม ๆ เช่น ส่งลิงก์ บุ๊กมาร์ก หรืออีเมล กรมฯ จึงจำเป็นต้องหาวิธีการจัดการแอปพลิเคชันทั้งหมดเสียใหม่เพื่อการใช้งานที่สะดวกและง่ายยิ่งขึ้น ซึ่งโซลูชันนั้นคือการใช้ประโยชน์จาก ArcGIS Hub โดยทำการสร้าง CIP Geo Hub ขึ้นมาเพื่อให้ผู้ใช้งานภายในองค์กรสามารถเข้าถึงแอปพลิเคชันต่าง ๆ ได้โดยตรง รวมทั้งเข้าถึงข้อมูลสถิติ และตัวชี้วัดประสิทธิภาพที่สำคัญ
เมื่อพัฒนาแดชบอร์ดสำหรับใช้ภายในองค์กรสำเร็จแล้ว ทางมณฑลจึงได้ดำเนินการพัฒนาแดชบอร์ดสำหรับประชาชนต่อไป โดยมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มความโปร่งใสของภาครัฐและสร้างแพลตฟอร์มเพื่อแจ้งให้ประชาชนทราบเกี่ยวกับโครงการในท้องถิ่น ซึ่งแดชบอร์ดสำหรับประชาชนนั้นไม่ต่างกับที่ใช้ภายในองค์กรนัก กล่าวคือมีการใช้กราฟิกข้อมูลและสถิติที่อัปเดตอยู่เสมอ และมีการใช้ตัวกรอง รหัสของโครงการ และการนำทางแผนที่เพื่อให้ประชาชนสามารถใช้งานแบบ Interactive ได้
อัปเดตแบบเรียลไทม์พร้อมวางแผนอนาคต
ความสำเร็จในการใช้โซลูชันจาก ArcGIS ทำให้ประสิทธิภาพในการบริหารจัดการโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของมณฑลเซนต์จอห์นส์เพิ่มขึ้นอย่างมากเมื่อเทียบกับกระบวนการทำงานแบบเดิม โซลูชันดังกล่าวช่วยให้ผู้จัดการโครงการสามารถควบคุมข้อมูลและทำการแก้ไขข้อมูลพื้นฐานได้เองโดยไม่ต้องพึ่งเจ้าหน้าที่ GIS ทั้งการผสมผสานระหว่างเว็บแอปพลิเคชัน แดชบอร์ด และ Hub site ยังช่วยให้ผู้จัดการโครงการอัปเดตข้อมูลโครงการและสื่อสารกับผู้บริหารระดับสูงได้อย่างง่ายดาย
การนำแดชบอร์ดมาใช้ภายในองค์กรมีประโยชน์อย่างยิ่ง ตั้งแต่ช่วยให้การประชุมโครงการเป็นไปอย่างราบรื่นมากขึ้น สามารถลดเวลาประชุมจากหลายชั่วโมงเหลือเพียงหนึ่งชั่วโมงหรือน้อยกว่านั้น ทั้งข้อมูลที่เก่าและล้าสมัยก็กลายเป็นข้อมูลที่สามารถปรับเปลี่ยนได้ทันทีและเข้าถึงได้ง่าย และสามารถอัปเดตข้อมูลได้แบบเรียลไทม์เมื่อมีการเปลี่ยนแปลง นอกจากนั้น โซลูชันดังกล่าวยังช่วยเพิ่มความโปร่งใสต่อสาธารณะ ทั้งยังช่วยให้สามารถวางแผนการปรับปรุงในอนาคต โดยสามารถกำหนดรายการงานที่ต้องดำเนินการสำหรับแต่ละโครงการและอัปเดตข้อมูลการใช้จ่ายของโครงการได้แบบอัตโนมัติอีกด้วย
“เราต้องการนำศักยภาพของเทคโนโลยี GIS มาประยุกต์ใช้ในการทำงานของฝ่ายวิศวกรรมโครงการ CIP เรามั่นใจว่าการมีข้อมูลอ้างอิงเชิงพื้นที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการติดตามโครงการได้เป็นอย่างดี ทั้งยังเปิดโอกาสใหม่ ๆ ในการเชื่อมต่อกับระบบอื่น ๆ” – Greg Caldwell ผู้อำนวยการกรมโยธาธิการ
ค้นหาศักยภาพของเทคโนโลยี GIS กับการประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมอื่นๆ เพิ่มเติม