ArcGIS แพลตฟอร์มภูมิสารสนเทศ รุกหนักตลาดอสังหาฯ ส่ง 4 เครื่องมืออัจฉริยะช่วยนักลงทุนวิเคราะห์เชิงลึก

บริษัท อีเอสอาร์ไอ (ประเทศไทย) จำกัด ในกลุ่มบริษัท ซีดีจี ผู้นำด้าน Location Intelligence การวิเคราะห์ภูมิสารสนเทศในมุมมองใหม่ๆ เผยพบผลสำรวจของซีบีอาร์อี บริษัทที่ปรึกษาอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำระดับโลก ชี้ตลาดอสังหาริมทรัพย์ในภูมิภาคเอเชียมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ด้านตลาดอสังหาริมทรัพย์ไทยยังคงเติบโตต่อเนื่อง ที่อยู่อาศัยย่านชานเมืองเป็นกระแสที่กำลังได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น สอดคล้องกับพลัส พร็อพเพอร์ตี้ ที่พบว่าตลาดที่อยู่อาศัยย่านชานเมืองขยาย จากปัจจัยหนุนด้านการพัฒนาระบบคมนาคมอย่างรวดเร็ว ทำให้เทรนด์การมีบ้านชานเมืองเริ่มกลับมาได้รับความนิยม เพื่อก้าวตามสถานการณ์รับการขยายตัวของเมือง นักลงทุนอสังหาต้องอาศัยตัวช่วยเพื่อสร้างความได้เปรียบเหนือคู่แข่ง สบช่องส่ง ArcGIS แพลตฟอร์มด้านภูมิสารสนเทศอัจฉริยะ ด้วย 4 เครื่องมือตัวช่วยแก้เกมส์ธุรกิจอสังหาฯ ยุคการเปลี่ยนแปลง มุ่งวิเคราะห์วางกลยุทธ์ เพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน ปัจจุบันมีบริษัทพัฒนาอสังหาฯ 5 อันดับแรกของประเทศใช้ ArcGIS แพลตฟอร์มเป็นเครื่องมือ เพื่อตั้งรับกับสถานการณ์ธุรกิจอสังหาฯ ที่เกิดขึ้น

นางสาวธนพร ฐิติสวัสดิ์ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท อีเอสอาร์ไอ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า ตลาดอสังหาริมทรัพย์ยังมีแนวโน้มการเติบโตแต่ในทางกลับกันอุตสาหกรรมนี้ยังต้องเผชิญกับความท้าทาย จากการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ทั้งจากสภาวะเศรษฐกิจรวมทั้งพฤติกรรมผู้บริโภคและเทคโนโลยี โดยผลสำรวจของซีบีอาร์อี บริษัทที่ปรึกษาอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำระดับโลก ชี้ตลาดอสังหาริมทรัพย์ในภูมิภาคเอเชียมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง เป็นผลจากยักษ์ใหญ่ของเอเชียอย่างประเทศจีน มีการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ทั้งในแง่การคมนาคมและโครงการเชิงพาณิชย์ โดยจีนมีการพัฒนาในพื้นที่ใหม่ ๆ ในหลายหัวเมือง เป็นแรงขับให้เกิดการพัฒนาต่อเนื่องในภูมิภาค โดยเฉพาะเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รวมถึงประเทศไทย ที่เอื้อต่อการซื้อเพื่ออยู่อาศัย ลงทุน หรือตากอากาศ ผู้ประกอบการและผู้ซื้อต้องเตรียมพร้อมรับความเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว

“สำหรับสถานการณ์ในย่านชานเมือง จากการสำรวจของบริษัทที่ปรึกษาอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำระดับโลก พบว่าเป็นกระแสที่กำลังได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น โดยพบว่ามีอัตราเติบโตเพิ่มขึ้นเป็นอันดับ 1 จากความต้องการของผู้บริโภค โดยเฉพาะพื้นที่สีเหลืองที่เป็นเขตที่อยู่อาศัยหนาแน่นน้อย ดีมานด์โตราว 10% สูงกว่าเขตสีส้มที่มีดีมานด์โต 5% ขณะที่พื้นที่สีน้ำตาลและสีแดงมีดีมานด์ลดลง เผย 3 ทำเลเด่น มีนบุรี-บางกะปิ สายไหม-สะพานใหม่ และบางใหญ่-นนทบุรี จากอานิสงส์ใกล้เมือง ใกล้รถไฟฟ้า รวมถึงปัจจัยหนุนด้านการพัฒนาระบบคมนาคมอย่างรวดเร็ว ทำให้เทรนด์การมีบ้านชานเมืองเริ่มกลับมาได้รับความนิยม เพื่อก้าวตามสถานการณ์รับการขยายตัวของเมือง นักลงทุนอสังหาต้องอาศัยตัวช่วยเพื่อสร้างความได้เปรียบเหนือคู่แข่ง บริษัทฯสบช่องส่ง ArcGIS แพลตฟอร์มด้านภูมิสารสนเทศอัจฉริยะ ที่ได้รับการยอมรับในหลายประเทศทั่วโลก โดดเด่นในเรื่องของ Location Intelligence โดยในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์นำมาใช้เพื่อการบริหารจัดการอสังหาริมทรัพย์แบบครบวงจร ด้วย 4 เครื่องมือ เพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน วิเคราะห์สภาพธุรกิจ และพยุงสถานการณ์ให้ดำเนินไปในทิศทางที่เหมาะสม” นางสาวธนพรกล่าว

ทั้งนี้ ArcGIS แพลตฟอร์มด้านภูมิสารสนเทศอัจฉริยะ มีระบบการทำงานที่หลากหลายครบเครื่อง คือ 1. ระบบบริหารจัดการแปลงที่ดิน (Land Analysis) ช่วยตั้งแต่การวิเคราะห์หาปัจจัยต่อพื้นที่ศักยภาพในการลงทุน  โดยการนำเอาข้อมูลจากนายหน้าที่ดินมา ใช้ในการจัดเก็บข้อมูลและวิเคราะห์ความเป็นไปได้ในการลงทุนจากปัจจัยของตัวธุรกิจและข้อมูลของแต่ละพื้นที่ ติดตามสถานะการซื้อขายของแต่ละแปลงที่ดิน และเข้าถึงข้อมูลแบบ เรียลไทม์(real-time) รวมไปถึงนำการเสนอข้อมูลต่อผู้บริหารในรูปแบบของ Interactive Dashboard สรุปข้อมูลในมุมมองต่างๆ เพื่อให้สามารถดูและทำความเข้าใจได้ง่ายๆ ใช้เวลาในการตีความสั้นๆ และสามารถตอบโจทย์ในทางธุรกิจได้ เพื่อการตัดสินใจที่ทรงประสิทธิภาพมากกว่าที่เคย 2. ระบบจำลองพื้นที่โครงการและอาคารแบบ 3 มิติ (3D Building Typology Simulation) สร้างแบบจำลองพื้นที่และอาคารแบบ Interactive 3D รูปแบบต่าง ๆ ตามเงื่อนไขของข้อมูลพื้นที่สีเขียวตาม FAR, BCR และ OSR ที่เป็นข้อกำหนดขนาดของอาคารที่สามารถสร้างได้  คือ อัตราส่วนพื้นที่อาคารรวมต่อพื้นที่ดิน และอัตราส่วนที่ว่างต่อพื้นที่อาคารรวม ภายใต้เงื่อนไขและข้อกำหนดทางกฎหมาย รูปแบบขอบเขตอาคารที่ต้องการ เช่น รูปแบบตัวแอล (L Shape) รูปแบบตัวไอ (I Shape) ออกมาเป็นภาพจำลอง 3 มิติให้เห็นพื้นที่ ขนาด และความสูงของอาคาร รวมไปถึงพื้นที่ใช้สอยภายในอาคาร และสร้างรายงานสรุปข้อมูลและจำลองอาคาร 3 มิติให้แบบอัตโนมัติ 3. ระบบการออกแบบอาคารร่วมกับเทคโนโลยี CAD และ BIM (GIS Integrate with CAD and BIM) มี Plugin ที่ช่วยในการเขียนแบบด้วยเทคโนโลยี CAD (Computer Aided Design) หรือการใช้คอมพิวเตอร์เข้ามาช่วยในการออกแบบ ไม่ว่าจะเป็นแบบเกี่ยวกับอาคาร รวมไปถึงส่วนประกอบอาคารหรือระบบวิศวกรรม รวมทั้งสนับสนุนการทำงานเชิงพื้นที่ร่วมกับโมเดล BIM (Building Information Modeling ) หรือการจำลองข้อมูลต่าง ๆของอาคาร  ไม่ว่าจะเป็นโมเดลอาคารเพื่อการก่อสร้าง หรือแม้แต่ข้อมูลระบบสาธารณูปโภคอาคาร เพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถวิเคราะห์เชิงพื้นที่ และสนับสนุนการทำงานภาคสนามร่วมกับข้อมูลอาคารที่มีความถูกต้องสูงด้วยเทคโนโลยี CAD และ BIM 4. ระบบการบริหารจัดการพื้นที่ภายในอาคาร (Property Management) อำนวยความสะดวกในการจัดการและดูแลพื้นที่ระหว่างเจ้าของโครงการและผู้เช่าอย่างเป็นระบบ ตั้งแต่การเรียกดูข้อมูลพื้นที่ ติดตามปริมาณความหนาแน่นของการใช้งานพื้นที่ อัปเดตสถานะการเช่าพื้นที่ จัดเก็บสัญญาเช่า รวมไปถึงแอพพลิเคชั่นเพื่อผู้เช่าในการแจ้งปัญหาการใช้งานอาคาร ไปจนถึงการแจกจ่ายงานให้ผู้รับผิดชอบ และสรุปภาพรวมการดำเนินงานต่าง ๆ ในโครงการแบบ real-time ในรูปแบบ Interactive Dashboard

นางสาวธนพรกล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันมีบริษัทพัฒนาอสังหาฯ 5 อันดับแรกของประเทศใช้ ArcGIS แพลตฟอร์มเป็นเครื่องมือในการวางกลยุทธ์ธุรกิจ เพื่อตั้งรับกับสถานการณ์ธุรกิจอสังหาฯ ที่เกิดขึ้น โดยบริษัทอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ของไทยแห่งหนึ่ง ได้นำเทคโนโลยี ArcGIS ไปปรับใช้ในการบริหารจัดการแปลงที่ดิน หรือ Land Analysis ที่ช่วยนำเอาข้อมูล ที่มีรายละเอียดสภาพแวดล้อม สาธารณูปโภค ร้านค้า สถานพยาบาล สถานศึกษา สถานที่สำคัญต่าง ๆ รวมถึงข้อมูลโครงการอสังหาริมทรัพย์ในละแวกใกล้เคียง มาจัดเก็บทำแผนที่ที่ดิน วิเคราะห์ความเป็นไปได้ในการลงทุนจากปัจจัยของตัวธุรกิจและข้อมูลของแต่ละพื้นที่ ซึ่งเป็นการรวบรวมข้อมูลเชิงลึกอย่างละเอียด เพื่อเป็นข้อมูลช่วยสนับสนุนการตัดสินใจซื้อแปลงที่ดิน เพิ่มความสะดวกรวดเร็วในการทำงานภายในองค์กร

นอกจากนี้ยังมีบริษัทชั้นนำอีกราย ที่นำเทคโนโลยี ArcGIS ไปวิเคราะห์เชิงพื้นที่ สร้างความเป็นผู้นำในการจับจองที่ดิน รวมถึงทำแผนที่แสดงตำแหน่งโครงการต่าง ๆ ของบริษัท และปรับใช้ในการแสดงสถานการณ์น้ำท่วมในเขตกรุงเทพและปริมณฑลแบบ เรียลไทม์ซึ่งแสดงบริเวณน้ำท่วม แนวป้องกันน้ำท่วม เส้นทางเลี่ยง เพื่อใช้ในการสัญจร หลีกเลี่ยงน้ำท่วม เส้นทางที่ไม่แนะนำ รวมทั้งเส้นทางที่ปิดการสัญจร จุดอพยพสำหรับผู้ที่ถูกน้ำท่วมที่พักอาศัย และอาคารหรือสถานที่สำหรับจอดรถ เพื่อเตรียมตัวตั้งรับกับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นต่อไปได้ นางสาวธนพรกล่าวเสริม

 

Tags: